เรื่องเล่า ของพระเจ้าอยู่หัว
ระยะแรกราวปี พ.ศ.2498 เป็นต้นมา คราใดที่เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชวังไกลกังวลนั้น
จะทรงขับรถยนต์พระที่นั่งไปยังท้องที่ห่างไกลทุรกันดารย่านหัวหิน หนองพลับแก่งกระจาน
ด้วยพระองค์เอง ทำนองเสด็จประพาสต้นของรัชกาลที่ห้า โดยที่ราษฎรไม่รู้ตัวล่วงหน้าว่าทรงมาถึงแล้ว
วันหนึ่งทรงขับรถยนต์พระที่นั่งผ่านไปถึงยังบริเวณหมู่บ้านแห่งหนึ่งย่านหมู่บ้านห้วยมงคล
อำเภอหัวหิน ซึ่งราษฎรกำลังช่วยกันตบแต่งประดับซุ้มรับเสด็จกันอย่างสนุกสนานครื้นเครง
และไม่คาดคิดว่าเป็นรถยนต์พระที่นั่งส่วนพระองค์ ต้องให้ ในหลวงเสด็จฯก่อนแล้วพรุ่งนี้ถึงจะลอดผ่านซุ้มได้..
วันนี้ห้ามลอดผ่านซุ้มนี้ เพราะขอให้ในหลวงผ่านก่อนนะ…ทรงขับรถพระที่นั่งเบี่ยงข้างทางไม่ลอดซุ้มดังกล่าว
วันรุ่งขึ้น เมื่อพระองค์ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในหมู่บ้านนี้อย่างเป็นทางการ
พร้อมคณะข้าราชบริพารผู้ติดตาม และทรงมีพระดำรัสทักทายกับชายผู้นั้นที่เฝ้าอยู่หน้าซุ้มเมื่อวันวานนี้ว่า
“วันนี้ฉันเป็นในหลวง...คงผ่านซุ้มนี้ได้แล้วนะ..."
พ่อลิเกเก่า
เมื่อเสด็จขึ้นไปทรงเยี่ยมบนบ้านของราษฎรผู้หนึ่ง
ที่คณะผู้ตามเสด็จทั้งหลายออกแปลกใจในการกราบบังคมทูลที่คล่องแคล่วและใช้คำราชาศัพท์ได้อย่างน่าฉงน
เมื่อในหลวงทรงมีพระราชปฏิสันถารถึงการใช้คำราชาศัพท์ได้ดีนี้ จึงมีคำกราบทูลว่า ”ข้าพระพุทธเจ้าเป็นโต้โผลิเกเก่า บัดนี้มีอายุมากจึงเลิกรามาทำนาทำสวน พระพุทธเจ้าข้า"
มาถึงตอนสำคัญที่ทรงพบนกในกรงที่เลี้ยงไว้ที่ชานเรือนก็ทรงตรัสถามว่า
เป็นนกอะไรและมีกี่ตัว…พ่อลิเกเก่ากราบบังคมทูลว่า "มีทั้งหมดสามตัว
พระมเหสีมันบินหนีไป ทิ้งพระโอรสไว้สองตัว ตัวหนึ่งที่ยังเล็กตรัสอ้อแอ้อยู่เลย
และทิ้งให้พระบิดาเลี้ยงดูแต่ผู้เดียว"
เรื่องนี้ ดร.สุเมธเล่าว่า เป็นที่ต้องสะกดกลั้นหัวเราะกันทั้งคณะไม่ยกเว้นแม้แต่ในหลวง
จะให้เป็นช่าง
มีเรื่องหนึ่งเคยฟังจากผู้ใหญ่เล่าเมื่อนานมาแล้ว
มีช่างไปทำฝ้าเพดานในวัง คนหนึ่งกำลังยืนบนบันได ส่วนหัวอยู่ใต้ฝ้า อีกคนคอยจับบันไดอยู่ด้านล่าง
พอดีในหลวงเสด็จมาคนที่อยู่ข้างล่างเห็นในหลวงก็ก้มลงกราบ คนอยู่ด้านบนไม่เห็น
ก็บอกว่า “เฮ้ย! จับดีๆ หน่อยสิ
อย่าให้แกว่ง” ในหลวงทรงจับบันไดให้ เค้าก็บอกว่า “เออ ดีๆ เสร็จงานนี้จะให้เป็นช่างจริง” (สงสัยคงจะเพิ่งเข้ามาทำงานยังไม่ผ่านโปร)
พอเสร็จก็ก้าวลง พอเห็นว่าในหลวงเป็นคนจับบันไดให้ถึงกับเข่าอ่อน จะตกบันได รีบลงมาก้มกราบ
ในหลวงทรงตรัสกับช่างว่า “แหม ดีนะที่ชมว่าใช้ได้ แถมจะปรับตำแหน่งให้เป็นช่างอีกด้วย"
_______________________________
ไม่ใช่มิกกี้เมาส์
เมื่อครั้งท่านพระชนม์มายุ ๗๒ พรรษา มีการผลิตเหรียญที่ระลึกออกมาหลายรุ่น
เจ้าของกิจการนาฬิกายี่ห้อหนึ่งได้ยื่นเรื่องขออนุญาตนำพระบรมฉายาลักษณ์ของท่านมาประดับที่หน้าปัดนาฬิกาเป็นรุ่นพิเศษ
ท่านทราบเรื่องแล้วตรัสกับเจ้าหน้าที่ว่า "ไปบอกเค้านะ
เราไม่ใช่มิกกี้เมาส์"
_______________________________
ชื่อเหมือนกัน
ดูจะเป็นเรื่องใหญ่ที่ใครต่อใครเกร็งกันทั้งแผ่นดิน
เพราะเรียนมาตั้งแต่เล็กแต่ไม่เคยได้ใช้ เมื่อออกงานใหญ่จึงตื่นเต้นประหม่า ซึ่งเป็นธรรมดาของคนทั่วไป
และไม่เว้นแม้กระทั่งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ได้เข้าเฝ้า ทูลละอองธุลีพระบาทถวายรายงานหรือกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทในพระราชานุกิจต่างๆนานัปการ
ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ
รองราชเลขาธิการ เคยเล่าให้ฟังว่า ด้วยพระบุญญาธิการและพระบารมีในพระองค์นั้นมีมากล้นจนบางคนถึงกับไม่อาจระงับอาการกิริยาประหม่ายามกราบบังคมทูล
จึงมีผิดพลาดเสมอ แม้จะซักซ้อมมาอย่างดีก็ตาม ครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน มีข้าราชการระดับสูงผู้หนึ่งกราบบังคมทูลรายงานว่า
“ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาท ปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า พลตรีภูมิพลอดุลยเดช
ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตกราบบังคมทูลรายงาน ฯลฯ" เมื่อคำกราบบังคมทูล ในหลวงทรงแย้มพระสรวลอย่างมีพระอารมณ์ดีและไม่ถือสาว่า
"เออ ดี เราชื่อเดียวกัน" ข่าวว่าวันนั้นผู้เข้าเฝ้าต้องซ่อนหัวเราะขำขันกันทั้งศาลาดุสิดาลัยเพราะผู้รายงานตื่นเต้นจนจำชื่อตนเองไม่ได้
_______________________________
เชื้อโรคตายหมด
เรื่องมีอยู่ว่า เหตุการณ์เมื่อปี 2513
วันนั้นพระองค์ท่านทรงเสด็จไปหมู่บ้านท้ายดอยจอมหด อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่
ผู้ใหญ่บ้านลีซอกราบทูลชวนให้ไปแอ่วบ้านเฮา
ท่านก็ทรงเสด็จตามเขาเข้าไปบ้านซึ่งทำด้วยไม้ไผ่และมุงหญ้าแห้ง
เขาเอาที่นอนมาปูสำหรับประทับแล้วรินเหล้าทำเองใส่ถ้วยที่ไม่ค่อยจะได้ล้างจนมีคราบดำๆ
จับ ทางผู้ติดตามรู้สึกเป็นห่วง เพราะปกติไม่ทรงใช้ถ้วยมีคราบ จึงกระซิบทูลว่าควรจะทรงทำท่าเสวย
แล้วส่งถ้วยมาพระราชทานผู้ติดตามจัดการเอง แต่พระองค์ท่านก็ทรงดวดเอง กร๊วบเดียวเกลี้ยง
ตอนหลังทรงรับสั่งว่า "ไม่เป็นไร แอลกอฮอล์เข้มข้นเชื้อโรคตายหมด"
ซึ้งไหมล่ะครับ พระเจ้าอยู่หัวของเรา
_______________________________
ก๋วยเตี๋ยวอร่อย
เคยมีคนเล่าให้ฟังว่า
ครั้งหนึ่งพ่อหลวงทรงเสด็จไปที่ตลาดสด ทรงแวะไปเสวยก๋วยเตี๋ยว แม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยว
เห็นก็สงสัย จึงทูลถามพระองค์ว่า "ทำไมหน้า
เหมือนในหลวงจัง" พระองค์ท่านไม่ตอบอะไรได้แต่ยิ้มๆ ทรงจ่ายเงินค่าก๋วยเตี๋ยวแล้วตรัสชมว่าก๋วยเตี๋ยวอร่อย
ส่วนแม่ค้ามารู้ที่หลังว่าเป็นพระองค์ท่านก็ได้แต่ปลื้ม
_______________________________
ถวายพระเพลิง
มีอยู่ครั้งหนึ่ง ทรงเสด็จไปพระราชทานปริญญาบัตรให้กับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง
ในระหว่างที่ทรงเปลี่ยนในครุย ทรงสูงมวนพระโอสถ แต่ว่าทรงหาที่จุดไม่ได้ ทางอธิการบดีซึ่งเฝ้าอยู่ก็จุดไฟให้พร้อมกับทูลว่า
"ถวายพระเพลิงพระเจ้าข้า" ในหลวงทรงชะงัก ก่อนจะแย้มสรวลน้อยๆ กับอธิการบดีว่า
"เรายังไม่ตาย ถวายพระเพลิงไม่ได้หรอก"
_______________________________
ขอเดชะ พระหมดแล้ว
เคยมีเรื่องเล่าให้ฟังว่า ในหลวงเสด็จไปในถิ่นทุรกันดารเพื่อเยี่ยมเยียนราษฎร
มีอยู่ครั้งหนึ่งพระองค์ท่านทรงแจกพระเครื่องให้กับราษฎรจนหมดแล้ว ราษฎรผู้หนึ่งจึงกราบบังคมทูลขอรับพระราชทานพระเครื่องว่า
"ขอเดชะ ขอพระหนึ่งองค์" ในหลวงทรงตรัสว่า "ขอเดชะ
พระหมดแล้ว"
_______________________________
ต้องเรียกน้าซิ
วันหนึ่งพระองค์ท่านเสด็จเยี่ยมเยียนพสกนิกรของท่านตามปกติที่ต่างจังหวัด
ก็มีชาวบ้านมาต้อนรับในหลวงมากมายพระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินมาตามลาดพระบาท ที่แถวหน้าก็มีหญิงชราแก่คนหนึ่งได้ก้มลงกราบแทบพระบาทแล้วก็เอามือของแกมาจับพระหัตถ์ของในหลวง
แล้วก็พูดว่ายายดีใจเหลือเกินที่ได้เจอในหลวง แล้วก็พูดว่ายายอย่างโน้น
ยายอย่างนี้ อีกตั้งมากมายแต่ในหลวงก็ทรงเฉยๆ มิได้ตรัสรับสั่งตอบว่ากระไร
แต่พวกข้าราชบริภารก็มองหน้ากันใหญ่ กลัวว่าพระองค์จะทรงพอพระราชหฤหัยหรือไม่ แต่พอพวกเราได้ยินพระองค์รับสั่งตอบว่ากับหญิงชราคนนั้น
ก็ทำให้เราถึงกับกลั้นหัวเราะไว้ไม่ไหวเพราะ พระองค์ทรงตรัสว่า "เรียกว่ายายได้อย่างไร อายุอ่อนกว่าแม่ฉันตั้งเยอะ
ต้องเรียกน้าซิถึงจะถูก"
_______________________________
ตกสะพาน
พระองค์ท่านเสด็จไปที่จังหวัดสกลนคร
เพื่อทรงเยี่ยมเยียนชาวบ้าน และพระองค์ก็ทรงตรัสถามชายคนหนึ่งที่มาเข้าเฝ้าเพราะแขนเจ็บเข้าเฝือก
ในหลวงทรงรับสั่งถามว่า "แขนเจ็บไปโดนอะไรมา" ชายคนนั้นตอบว่า "ตกสะพาน" แล้วในหลวงทรงรับสั่งกลับไปอีกว่า
"แล้วแขนอีกข้างหนึ่งละ "ชายคนนั้นก็ตอบกลับมาอีกว่า" แขนข้างนี้ไม่ได้ตกลงไปด้วยตกข้างเดียว"
ในหลวงของเราก็ทรงพระสรวล
_______________________________
ทรงพระคัน
พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรทางภาคใต้
ที่จังหวัดนราธิวาส ทางใต้นี้มีปัญหาเรื่องดินเป็นกรดมีความเค็ม พระองค์จึงทรงรับสั่งถามกับชาวบ้าน
ที่มาเฝ้ารับเสด็จว่า "ดินหลังบ้านเป็นอย่างไร
เค็มไหม" ชาวบ้านก็มองหน้ากันแล้วทำหน้างงก่อนตอบกลับมาว่า
"ไม่เคยชิมซักที" ในหลวงก็รับทรงสั่งกับข้าราชบริภารที่ตามเสด็จว่า "ชาวบ้านแถวนี้เขามีอารมณ์ขันกันดีนะ" ครั้งหนึ่งหลายๆ ปีมาแล้ว พระเจ้าอยู่หัวทรงประชวร นิดหน่อยเกี่ยวกับพระฉวีมีพระอาการคัน มีหมอโรคผิวหนังคณะหนึ่งไปเข้าเฝ้าฯ
เพื่อถวายการรักษา คุณหมอเป็นผู้เชี่ยวชาญทางโรคผิวหนังแต่ไม่ได้เชี่ยวชาญทางราชาศัพท์
ก็กราบบังคมทูลว่า "เอ้อ – ทรง ... อ้า – ทรงพระคันมานานแล้วหรือยังพะยะค่ะ"
พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระสรวล ตรัสว่า "ฉันไม่ใช่ผู้หญิงนี่ จะท้องได้ยังไง"
แล้วคงจะทรงพระกรุณาว่าหมอคงจะไม่รู้ราชาศัพท์ทางด้านอวัยวะร่างกายจริงๆ ก็พระราชทานพระบรมราชานุญาตว่า
– เอ้าพูดภาษาอังกฤษกันเถอะ – เป็นอันว่าก็กราบบังคมทูลซักพระอาการกันเป็นภาษาอังกฤษไป
_______________________________
กลัวว่าจะหิว
มีอีกเรื่องหนึ่ง เกิดขึ้นที่ อ.พร้าว จังหวัดเชียงใหม่
พระองค์ทรงเสด็จเยี่ยมราษฎรเผ่าลีซอ พอจะเสด็จกลับ ผู้เฒ่าคนหนึ่งยื่นถุงห่อข้าวให้ท่าน
เกรงว่าท่านจะหิวขณะเดินทาง เป็นน้ำพริกตาแดงกับข้าวเหนียวหนึ่งห่อ
พร้อมกับบอกในหลวงว่า "หมู่บ้านเฮามันไกล กว่าเฮาจะเดินเข้าเมืองได้ใช้เวลาหลายวัน
กลัวว่าท่านจะหิวกลางทาง"
_______________________________
คนที่แบงก์
เช้าวันหนึ่ง เวลาประมาณ ๗ โมงเช้า นางสนองพระโอษฐ์ ของฟ้าหญิงองค์เล็ก
ได้รับโทรศัพท์เป็นเสียงผู้ชาย ขอพูดสายกับฟ้าหญิง ทางนางสนองพระโอษฐ์ก็สอบถามว่าใครจะพูดสายด้วย
ก้อมีเสียงตอบกลับมาว่า คนที่แบงก์ นางสนองพระโอษฐ์ก็งง ... งงว่าคนที่แบงก์ทำไมโทรมาแต่เช้า
แบงก์ก้อยังไม่เปิดนี่นา พอฟ้าหญิงรับโทรศัพท์แล้วถึงได้รู้ว่า คนที่แบงก์น่ะที่แบงก์จริงๆ
(ธนบัตร)
_______________________________
พระมหากรุณาธิคุณ
เรื่องนี้รุ่นพี่ที่จุฬาฯ เล่าให้ฟังว่า มีอยู่ปีหนึ่งที่ในหลวงทรงเสด็จพระราชทานปริญญาบัตร
อธิการบดีอ่านรายชื่อบัณฑิตแล้วบังเอิญว่ามีเหตุขัดข้องบางประการ ทำให้อ่านขาดตอน ก็ต้องรีบหาว่าอ่านรายชื่อไปถึงไหนแล้ว
ปรากฏว่าในหลวงท่านทรงจำได้ ท่านเลยตรัสกับอธิการไปว่าเมื่อกี้นี้ (ชื่อ....
เค้ารับไปแล้ว และมีอีกปีหนึ่งขณะที่พระราชทานปริญญาบัตรอยู่ดีๆ ไฟดับไปชั่วขณะ ทำให้บัณฑิตคนหนึ่งพลาดโอกาสครั้งสำคัญในการถ่ายรูป
พอในหลวงทรงพระราชทานปริญญาบัตรเรียบร้อยแล้ว ก่อนที่จะให้พระบรมราโชวาท พระองค์ท่านทรงให้อธิการบดีเรียกบัณฑิตคนนั้นมารับพระราชทานอีกครั้งเพื่อจะได้มีรูปไว้เป็นที่ระลึก
เรื่องนี้ตื้นตันกันถ้วนทั่วทั้งหอประชุม
_______________________________
พับเพียบ
ในครั้งแรก ผมทำงานตามพระราชดำริ
โดยไม่ทราบว่าเป็นงานของพระองค์ จนกระทั่งวันหนึ่งมีคนบอกว่าให้เข้าไปในวังด้วยกัน
และให้นำระบบสายอากาศชนิดใหม่ขึ้นไปติดตั้ง ก็ไม่ได้คิดว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯ
มา แต่ว่าแปลกใจทำไมอยู่ดีๆ เจ้าหน้าที่ที่กำลังติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ อยู่บนดาดฟ้าของพระตำหนักถึงปีนลงมา
ทั้งๆ ที่งานยังไม่เสร็จ แท้ที่จริงพระองค์ท่านเสด็จฯ มายืนอยู่ข้างหลัง
ผมเหลียวหลังไปมองนิดหนึ่ง ครั้นพอเห็นพระองค์ท่านก็ตกใจ เป็นอาการวูบขึ้นมาทันที
นึกอยู่ในใจว่าใช่แล้ว ใช่แน่ๆ เพราะคิดว่าเหมือนในรูป ผมก็รีบทำความเคารพ
แล้วก็ทำอะไรไม่ถูกสิ่งที่ผมจำได้คือเราต้องอยู่ต่ำกว่า จึงรีบคุกเข่าให้ต่ำลงมาเป็นเหมือนชันเข่าเพราะว่าตอนนั้นพระองค์ท่านประทับยืนอยู่
ถ้านั่งพับเพียบเลยก็จะต่ำเกินไป เพราะว่าผมต้องพูดอธิบายด้วยปรากฏว่าพระองค์ท่านก็คุกเข่าลงไปด้วย
ผมก็เลยนั่งพับเพียบให้ต่ำลงไปอีก พระองค์ท่านก็ทรงประทับพับเพียบเหมือนกัน เลยกลายเป็นว่าวันนั้นนั่งพับเพียบสนทนากัน
๒ – ๓ ชั่วโมง บนดาดฟ้าพระตำหนักในเวลาช่วง
บ่ายที่ร้อนเปรี้ยง
รองศาสตราจารย์ ดร.สุธี อักษรกิตติ์
ผู้สนองพระราชดำริ ในโครงการระบบสื่อสารสายอากาศ
และอิเล็กทรอนิกส์
_______________________________
น้ำลดหรือยัง
โดย ถาวร ชนะภัย
หลายปีมาแล้วเมื่อครั้งน้ำท่วมภาคใต้
อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ได้รับผลกระทบหนักที่สุดเป็นช่วงเวลาที่การสื่อสารแห่งประเทศไทยได้นำเครื่องโทรพิมพ์มาติดตั้งที่ห้องทรงงานใหม่ๆ
ข้าราชสำนักท่านหนึ่งกรุณาเล่าให้ฟังว่า แม้ดึกดื่นเที่ยงคืนแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ยังไม่เสด็จขึ้นห้องพระบรรทม
แต่ทรงคอยติดตามข่าวเรื่องอุทกภัยที่หาดใหญ่อยู่อย่างใกล้ชิด ด้วยทรงห่วงใยราษฎรจึงทรงส่งคำถามผ่านเครื่องโทรพิมพ์ด้วยพระองค์เองทรงถามไปทางหาดใหญ่ว่า
"น้ำลดแล้วหรือยัง" โดยที่ไม่ทราบว่าผู้ส่งคำถามมานั้นคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
คำตอบที่มีผ่านมาทางเครื่องโทรพิมพ์เมื่อเวลาตีสองตีสามมีข้อความที่ตอบด้วยความไม่พอใจว่า
"ถามอะไรอยู่ได้ดึกดื่นป่านแล้วคนเขาจะหลับจะนอน" แต่ตอนท้ายของคำตอบก็ไม่ลืมที่จะบอกด้วยว่า
"น้ำลดแล้ว"
_______________________________
เสียงปริศนา
ในวันเสด็จพระราชดำเนิน กลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ขณะที่ประทับรถพระที่นั่ง ไปสู่สนามบินดอนเมือง พระองค์ทรงได้ยินเสียงตะโกนดังๆ
ว่า "ในหลวง อย่าทิ้งประชาชนนะ" ทำให้ทรงนึกตอบบุคคลผู้นั้นในพระราชหฤทัยว่า
"ถ้าประชาชน ไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้วข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนอย่างไรได้"
เป็นที่น่าประหลาดว่า ต่อมาอีกประมาณ ๒๐ ปี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพบชายที่ร้องตะโกนทูลพระองค์ไม่ให้ทิ้งประชาชนนั้น
เป็นพลทหาร และในปัจจุบันเขาออกไปทำนาอยู่ในต่างจังหวัด เขากราบบังคมทูลสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ไม่ทรงทิ้งราษฎร
เขาทูลว่า ตอนที่เขาร้องไปนั้น เขารู้สึกว้าเหว่ และใจหาย ที่เห็นพระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จไปจากเมืองไทย
กลัวจะไม่เสด็จกลับมาอีก เพราะคงจะทรงเข็ดเมืองไทยเห็นเป็นเมืองที่น่ากลัว น่าสยดสยอง
เขาดีใจมากที่ได้เฝ้าฯ อีก กราบบังคมทูลถามว่า "ท่านคงจำผมไม่ได้
ผมเป็นคนร้องไม่ให้ท่านทิ้งประชาชน" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งถามว่า
"เรานะรึที่ร้อง" "ใช่ครับ
ตอนนั้นเห็นหน้าท่านเศร้ามาก กลัวจะไม่กลับมา จึงร้องไปเหมือนคนบ้า" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตอบ
"นั่นแหละ ทำให้เรานึกถึงหน้าที่ จึงต้องกลับมา"
_______________________________
เราจับได้แล้ว
ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา นางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ
ครั้งหนึ่งในงานนิทรรศการ "ก้าวไกลไทยทำ" วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๘
"The BOI Fair 1995 commemorates the 50th Anniversary of His Majesty King
Bhumibol Adulyadej's reign"(Board of Investment Fair 1995 BOI) หลังจากที่เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตามศาลาการแสดงต่างๆ
ก็มาถึงศาลาโซนี่ (อิเล็กทรอนิกส์) ภายในศาลาแต่งเป็น "พิภพใต้ทะเล"
โดยใช้เทคนิคใหม่ล่าสุด "Magic Vision" น้ำลึก 20,000
league จะมีช่วงให้แลเห็นทะเลว่ายผ่านไปมา ปลาตัวเล็กๆ สีสวยจะว่ายเข้ามาอยู่ตรงหน้า
ข้อสำคัญเขาเขียนป้ายไว้ว่าถ้าใครจับปลาได้เขาจะให้เครื่องรับโทรทัศน์พวกเราไขว่คว้าเท่าไหร่ก็จับไม่ได้เพราะเป็นเพียงแสงเท่านั้น
แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่า "เราจับได้แล้ว"
พร้อมทั้งทรงยกกล้องถ่ายรูปชูให้ผู้บรรยายดู แล้วรับสั่งต่อ "อยู่ในนี้" ต่อจากนั้นคงไม่ต้องเล่า เพราะเมื่ออัดรูปออกมาก็จะเป็นภาพปลาและจับต้องได้บริษัทโซนี่จึงต้องน้อมเกล้าฯ
ถวายเครื่องรับโทรทัศน์ตามที่ประกาศไว้…
_______________________________
ข้าวผัดไข่ดาว
โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล
วันหนึ่งเสด็จฯ เขาค้อเพื่อเปิดอนุสาวรีย์
พอเปิดอนุสาวรีย์เสร็จพระองค์ท่านก็ขอกลับไปที่พระตำหนัก
เฟื่อจะทรงเปลี่ยนฉลองพระบาท เพราะเดี๋ยวจะไปดูงานในป่าในดง เราก็ ไม่ได้ทานข้าว ไม่มีใครทานข้าว
ตอนนั้นบ่ายสองโมงแล้วก่อนจะเปลี่ยนฉลองพระบาทสักยี่สิบนาทีน่าจะพุ้ยข้าวทันก็รีบวิ่งไปห้องอาหารที่เตรียมไว้ปรากฏว่าพวกที่ไม่ได้
ตามเสด็จเขาทานกันหมดแล้วในนั้นจึงเหลือข้าวผัดติดก้นกระบะกับมีไข่ดาวทิ้งแห้งไว้ ๓
–
๔ ใบ เราก็ตักเห็นมีข้าวอยู่จานหนึ่งวางไว้มีข้าวผัดเหมือนอย่างเรา ไข่ดาวโปะใบหนึ่ง
มีน้ำปลาถ้วยหนึ่งวางอยู่ เพื่อนผมก็จะไปหยิบมามหาดเล็กบอกว่า "ไม่ได้ๆ
ของพระเจ้าอยู่หัว ท่านรับสั่งให้มาตัก" ดูสิครับตักมาจากก้นกระบะเลย ผมนี่น้ำตาแทบไหลเลย
ท่านเสวยเหมือนๆ กันกับเรา
ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ
_______________________________
หมึกไม่ออก
โดยผู้ช่วยสาสตราจารย์ อนงค์รัตน์ สุขุม
วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๒๖ เป็นวันพระราชทางปริญญาบัตรที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ส่วนใหญ่นายกสโมสรอาจารย์จะเป็นผู้ดูแลถวายปากกาให้ทรงลงประปรมาภิไธย แต่ในปีนั้นดิฉันในฐานะอุปนายกสโมสรอาจารย์ได้รับหน้าที่นี้แทนก่อนจะเสด็จประราชดำเนิน
เราก็ดูแลความเรียบร้อยทุกอย่าง อย่างระมัดระวังที่สุด โดยเฉพาะปากกาลองกันหลายครั้งจนมั่นใจว่าไม่มีปัญหาแน่
พอเสด็จฯ มาถึงท่านก็ทรงลงประปรมาภิไธย
ปรากฏว่าทรงจรดปากกาลงไปแล้วแต่ไม่มีหมึกออกมา เราก็ตกใจมากเลยไม่รู่จะทำยังไงดี
นึกในใจว่าเป็นความบกพร่องของเราแน่ๆ ลองมากไปจนหมึกหมด ดิฉันก็เลยถวายกระดาษทิชชูเปล่าๆ
ที่อยู่ในมือให้ท่าน เพื่อจะให้ท่านทรงเช็ดปากกาแต่ท่านทรงพระเมตตามากเลย สีพระพักตร์ที่ท่านมองดิฉันเหมือนกับจะตรัสว่า
"ไม่ต้องตกใจ"แล้วก็ทรงนำปากกามาลองที่มือดิฉันที่มีกระดาษทิชชู
ปรากฏว่าหมึกออกจากนั้นก็ทรงหันไปลงพระปรมาภิไธยในสมุด พอท่านเสด็จพระราชดำเนินไปแล้ว
ทุกคนก็รีบเข้ามาดูกระดาษที่ทรงลองปากกาแผ่นนั้นกันใหญ่ ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์
ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งคณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ บอกว่า "พี่ๆ ขอหน่อยเถอะพี่จะเอาไปเป็นมงคล"
ก็เลยแบ่งให้อาจารย์ไปส่วนหนึ่ง…
_______________________________
ไม่ใช่กล้วยไข่
ผมเคยเข้าไปเล่นคอนเสิร์ตหน้าพระที่นั่งศาลาดุสิตาลัยเมื่อสิบห้าปีมาก่อน
พระเทพทรงประชวรหวัดเล็กน้อย
แล้วตรัสก่อนพวกผมเล่นกันว่าวันนี้ไม่มีเสียงกรี๊ดนะเป็นหวัด พอตอนเล่น
ผมเลยบังอาจถวายแซวพระองค์ท่านว่า ในฐานะรุ่นน้องจุฬาฯ ขอพระราชทานอนุญาต
เอ่ยพระนามพระองค์ว่า พี่น้อย ก็แล้วกัน วันนี้ขอให้พี่น้อย หายหวัดเร็วๆ นะครับ
คนดูในศาลาดุสิตาลัยเงียบกริบ ผมก็ชักหนาวสันหลังว่าเหิมเกริมไปหรือเปล่า
เพื่อนร่วมวงรีบชิงพูดต่อว่า มหาดเล็กครับ ช่วยยิงให้ถูกคนด้วยแล้วกัน
คนเลยฮากันตึง รอดไป มีเพลงหนึ่งชื่อเพลงกล้วยไข่ ผมก็แปลงเนื้อว่า แปลกใจจริงพระเทพฯ
ชอบอะไร พระเทพชอบ กล้วยไข่ เพราะว่าพระองค์ทรงโปรด ลัล ลั่ล ลั่ล ลา ตอนไปรับพระราชทานดอกไม้จากพระหัตถ์
ผมไปยกมือไหว้ท่าน ท่านก็ตรัสย้อนผมว่า ใครเค้าไหว้กัน เค้าโค้งจ้ะ จากนั้นท่านก็ตรัสว่า
ใครบอกฉันชอบกล้วยไข่ ฉันชอบกล้วยน้ำว้าย่ะ ผมไม่เคยลืมสักภาพเดียวเลยครับ
_______________________________
เกาะช้าง
มีครั้งหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่เสด็จประพาสทางทะเล
ระหว่างที่อยู่ในเรือพระที่นั่งทรงตรัสสอบถามนายทหารเรือที่ตามเสด็จว่า "นั่นเกาะอะไร"
นายทหารผู้นั้นตอบ "ขอเดชะ...เกาะนั้นมีพระนามว่าเกาะช้างพระเจ้าค่ะ"
ทรงแย้มสรวลแล้วตรัสตอบว่า "ถ้างั้น...เกาะนี้ก้อเป็นญาติฉันนะซิ"
นายทหารท่านนั้นคงตื่นเต้นที่ทรงมีพระปฏิสันถารด้วย บอกชื่อเกาะไม่ต้องว่าเกาะนั้นมี
"พระนาม" ว่าอะไรหรอก แค่บอกว่าเกาะนั้นชื่ออะไรก้อพอ ถ้าใช้ว่าเกาะ
นั้นมี "พระนาม" ว่าอะไรนั้น แสดงว่าเกาะนั้นเป็นเจ้านาย ด้วย
เพราะใช้คำราชาศัพท์กับเกาะ
_______________________________
ปิดทองหลังพระ
ในคืนวันหนึ่งของปีพ.ศ. ๒๕๑๐ (ยศในขณะนั้นพันตำรวจโท)......หลังจากได้รับพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำแล้ว ในวังไกลกังวล.....ผมจำได้ว่า
คืนนั้นผู้ที่โชคดีได้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานพระจิตรลดา เป็นนายตำรวจ 8 นาย และนายทหารเรือ 1 นาย....พระเจ้าอยู่หัว เสด็จลงมาพร้อมด้วยกล่องใส่พระเครื่องในพระหัตถ์
ทรงอยู่ในฉลองพระองค์ชุดลำลอง.......ขณะที่ทรงวางพระลงบนฝ่ามือที่ผมแบรับอยู่นั้น ผมมีความรู้สึกว่าองค์พระร้อนเหมือนเพิ่งออกจากเตา..........ภายหลัง
เมื่อมีโอกาสกราบบังคมทูลถาม จึงได้ทราบว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระเครื่ององค์นั้น
ด้วยการนำเอาวัตถุมงคลหลายชนิดผสมกัน เช่น
ดินจากปูชนียสถานต่างๆ ทั่วประเทศ ดอกไม้ที่ประชาชนทูลเกล้าถวายในโอกาสต่างๆ และเส้นพระเจ้า
(เส้นผม) ของพระองค์เอง เมื่อผสมกันโดยใช้กาวลาเท็กซ์เป็นตัวยึดแล้ว จึงทรงกดลงในพิมพ์
(อ.ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ซึ่งต่อมาเป็นศิลปินแห่งชาติเป็นผู้แกะถวาย)
โดยไม่ได้เอาเข้าเตาเผา
หลังจากที่ได้รับพระราชทานแล้ว ทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรมราโชวาทมีความว่า
“พระที่ให้ไปน่ะ ก่อนจะเอาไปบูชา ให้ปิดทองเสียก่อน แต่ให้ปิดเฉพาะข้างหลังพระเท่านั้น” พระราชทานพระบรมราชาธิบายด้วยว่า ที่ให้ปิดทองหลังพระก็เพื่อเตือนตัวเองว่า
การทำความดีไม่จำเป็นต้องอวดใคร หรือประกาศให้ใครรู้ ให้ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ และถือว่าความสำเร็จในการทำหน้าที่เป็นบำเหน็จรางวัลที่สมบูรณ์แล้ว
ผมเอาพระเครื่องพระราชทานไปปิดทองที่หลังพระแล้ว ก็ซื้อกรอบใส่ หลังจากนั้นมา
สมเด็จจิตรลดาหรือพระกำลังแผ่นดินองค์นั้นก็เป็นพระเครื่องเพียงองค์เดียวที่ห้อยคอผม
หลังจากที่ไปเร่ร่อนปฏิบัติหน้าที่อยู่ไกลห่างพระยุคลบาท ผมได้มีโอกาสกลับไปเฝ้าฯ
ที่วังไกลกังวลอีก ความรู้สึกเมื่อได้เฝ้าฯ นอกจากจะเป็นความปีติยินดีที่ได้เข้าเฝ้าเบื้องพระยุคลบาทอีกครั้งหนึ่ง
แล้วก็มีความน้อยใจที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความตั้งใจ ลำบาก และเผชิญอันตรายนานาชนิด
บางครั้งจนแทบเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ปรากฏว่ากรมตำรวจมิได้ตอบแทนด้วยบำเหน็จใดๆ
ทั้งสิ้น ก่อนเสด็จขึ้นคืนนั้น ผมจึงก้มลงกราบบนโต๊ะเสวย แล้วกราบบังคมทูลว่า ใคร่ขอพระราชทานอะไรสักอย่างหนึ่ง
พระเจ้าอยู่หัวตรัสถามว่า “จะเอาอะไร” และผมก็กราบบังคมทูลอย่างกล้าหาญชาญชัยว่า
จะขอพระบรมราชานุญาต ปิดทองบนหน้าพระ ที่ได้รับพระราชทานไปพระเจ้าอยู่หัวตรัสถามเหตุผลที่ผมขอปิดทองหน้าพระ
ผมกราบบังคมทูลอย่างตรงไปตรงมาว่า พระสมเด็จจิตรลดาหรือพระกำลังแผ่นดินนั้น นับตั้งแต่ได้รับพระราชทานไปห้อยคอแล้ว
ต้องทำงานหนักและเหนื่อยเป็นที่สุด เกือบได้รับอันตรายร้ายแรงก็หลายครั้ง มิหนำซ้ำกรมตำรวจยังไม่ให้เงินเดือนขึ้นแม้แต่บาทเดียวอีกด้วย
พระเจ้าอยู่หัวทรงแย้มพระสรวล (ยิ้ม)
ก่อนที่จะมีพระราชดำรัสตอบด้วยพระสุรเสียงที่ส่อพระเมตตาและพระกรุณาว่า ปิดทองข้างหลังพระไปเรื่อยๆ
แล้วทองจะล้นออกมาที่หน้าพระเอง
_______________________________
ผักบุ้งลอยฟ้า (พระเทพ)
ผมเคยไปนั่งทานข้าวต้ม ผักบุ้งลอยฟ้า ที่พิษณุโลก
ก็ต้องตะลึงเมื่อเห็นรูปพระองค์ ทรงสนุกกับการถือจานรับผักบุ้ง บนหลังคารถ
เด็กที่ร้านเล่าว่า พระองค์ไม่ทรงถือพระองค์เองเลย ตรัสล้อเล่นกับเด็กเสิร์ฟด้วย
และทรงเสวยกับชามข้าวต้มของร้าน ไม่ได้พิเศษจากลูกค้าคนอื่น ทรงประทับบนเก้าอี้ทั่วๆ
ไปในร้าน นึกถึงพระองค์ทีไร ก็รู้สึกตื้นตันทุกที เจ้าฟ้าหญิงของประชาชนที่แท้จริง
เคยอ่านมาจากหนังสือสกุลไทย ช่วงตอบปัญหาของใครจำไม่ได้แล้วมีคนเขียนไปถามเจ้าของคอลัมน์ว่าจริงหรือเปล่า
ที่พระองค์เคยเสด็จเป็นการส่วนพระองค์ยังเมืองทองธานีเพื่อเสวยร้านอาหารโต้รุ่งเค้าก็เขียนตอบว่าจริง
พระองค์เคยเสด็จอย่างส่วนพระองค์จริงๆ คือเสด็จไปกับคุณข้าหลวงอีก ๒ คนไม่มีองครักษ์ติดตามเลย
เสด็จยังร้านอาหารตามสั่งทั่วไปริมถนนไม่มีใครจำพระองค์ได้เลยแต่มี ๒
สามีภรรยาคู่หนึ่งเห็นเข้า ฝ่ายสามีบอกว่าไม่ใช่สมเด็จพระเทพหรอก เพราะนี่คือร้านอาหารโต้รุ่งแล้วก็ดึกมากแล้วด้วย
แต่ฝ่ายภรรยาบอกว่าเหมือนมาก ก็โต้กันไปโต้กันมาจนพระองค์ทรงได้ยินจึงหันพระพักตร์มาทาง
๒ สามีภรรยานี้แล้ว ตรัสว่าใช่แต่ขอให้ทำตัวตามสบาย เท่านั้นแหละครับ ๒ คนนี้ก็ก้มลงกราบจนคนอื่นๆ
แปลกใจก็หันมามองกันหมดทั้งร้าน เจ้าของร้านกับเด็กเสิร์ฟก็เพิ่งทราบ จึงรีบเข้าไปถวายความเคารพ
พวกพ่อค้าแม่ค้าแถวนั้นก็นำอาหารของร้านตนมาถวายจนกระทั่งเสด็จกลับไปนี่แหละครับ เจ้าหญิงในใจประชาชนพระองค์จริง
_______________________________
ตัวยึกยือ
มนูญ มุกข์ประดิษฐ์ รองเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
อดีตเลขาธิการ สำนักงานกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการ
อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เสด็จจะพระราชดำเนินด้วยพระบาทเข้าไปในป่ายาง ท่ามกลางฝนตกหนักโดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
ตามรอยพระยุคลบาทไปไม่ห่าง เป็นระยะทางถึง ๒ กม. เศษ นี่คือสิ่งที่มิใช่สามัญธรรมดาในความรู้สึกของผู้คน
และความไม่สามัญธรรมดานี้ก็ยิ่งไม่ธรรมดามากยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ เนื่องเพราะบริเวณนี้คือ
"ดงทาก" หรือ "รังทาก"
อันมีทากชุกชุมที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้
กว่าจะถึงจุดหมาย
คือบริเวณพื้นที่ที่จะพิจารณาสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อให้มีน้ำไว้ใช้ สำหรับพื้นที่ ๕,๐๐๐ ไร่ใน ๓ เขตตำบล คือ เชิงคีรี มะยูง และรือเสาะ เกือบทุกคนก็โชกฝน
และโชกเลือดแม้ทูลกระหม่อมทั้งสองพระองค์
ก็มิได้รับยกเว้น ค่ำวันนั้น ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินกลับ
พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ อากาศปลายฤดูฝน กำลังสบายดวงดาวบนท้องฟ้าเริ่มจะปรายแสง
ขบวนรถยนต์พระที่นั่ง ได้หยุดลงอย่างกะทันหันโดยไม่ทราบสาเหตุบนทางหลวงที่มืดสงัด เป็นเวลาหลายนาที
ถามไถ่ได้ความภายหลังว่า ยังมีทากหลงเหลือ กัดติดพระวรกายอยู่อีก เมื่อรู้สึกพระองค์
จึงได้ทรงหยุดรถยนต์พระที่นั่งและรับสั่งให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ช่วยจับทากที่ตัวเป่งด้วยพระโลหิตออกจากพระวรกาย
ทรงเรียกการทรงงานวิบาก ที่เชิงคีรี
ครั้งนี้ในภายหลังว่า "สงครามกับตัวยืกยือ
ที่เชิงคีรี"
_______________________________
ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท
โดย ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล
เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา
วันที่ ๕ พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันฉัตรมงคล
เป็นวันสำคัญของชาติบ้านเมืองและเป็นวันที่ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราช
อิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าจะต้องไปเข้าเฝ้าฯ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
เพื่อถวายความจงรักภักดีและชื่นชมยินดีกับผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราช อิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าในวันนั้น
หลังจากพระราชทานเครื่องราช
อิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าเสร็จแล้ว ก็เสด็จฯ
มายังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเพื่อถวายราชสักการะ
พวกเราก็มักจะไปยืนเข้าเฝ้าฯ หน้าพระอุโบสถอีกครั้งหนึ่ง
ในปีนี้
หลังจากเสด็จฯ ออกจากพระอุโบสถและเสด็จฯ ไปถวายราชสักการะที่ปราสาทพระเทพบิดร
ระหว่างเสด็จฯ ผ่านแถวของพวกเรา ก็ทรงหยุดชะงักนิดหนึ่ง
แล้วทรงหันมารับสั่งกับผมว่า? โครงการวัดมงคลเป็นอย่างไรบ้าง
ไปดูกันบ้างหรือเปล่า สมัยก่อนนี้พวกเราสนุกกันมากนะ? แน่นอนพระเจ้าอยู่หัวหยุดรับสั่งด้วยก็สร้างความมหาปีติเกิดขึ้นในหัวใจ
อย่างเป็นที่สุด แต่ฟังพระราชกระแสถึงเรื่องอดีตเก่าๆ
ก็รู้สึกซึ้งในจิตใจบอกไม่ถูก และหวนตระหวัดไปเห็นภาพเก่าๆ
เมื่อได้มีโอกาสเข้าถวายงานในฐานะเลขาธิการ กปร. ตั้งแต่ปี ๒๕๒๔ เป็นต้นมา
เป็นระยะห้วงชีวิตที่มีความสุข และสนุกที่สุดที่เคยมีมา
ในยุคนั้นจะประทับอยู่ในนครหลวงเพียงไม่ถึงครึ่งปี
นอกนั้นก็เสด็จประพาสไปในภูมิภาคต่างๆ ครบทั้ง ๔
ภาคเป็นประจำพวกเราก็ต้องย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ในต่างจังหวัดชั่วคราว ระยะแรกๆ
ยังไม่มีบ้านพัก กปร. ก็นอนโรงแรมบ้าง ขออาศัยบ้านพักหน่วยราชการบ้าง
โดยเฉพาะกรมชลประทาน สมบุกสมบัน ชีวิตมีเรื่องตื่นเต้นอยู่ตลอด เสด็จฯ
ออกเยี่ยมเยียนราษฎรและโครงการต่างๆ เกือบวันเว้นวัน เสด็จฯ ออกยามบ่าย และเสด็จฯ
กลับที่ประทับยามดึกแก่ๆ ทุกวัน เสด็จฯ แปรพระราชฐานที่หัวหินก็เจออากาศร้อน
เสด็จฯ ใต้เจอฝนแน่นอน อีสานร้อนสลับหนาว และภาคเหนือก็หนาวเหน็บ และโดยเฉพาะภาคเหนือถนนหนทางทุรกันดาร
นั่ง ฮ. เกือบทุกครั้ง ทุกพระองค์มิได้ทรงปริพระโอษฐ์บ่นอะไรเลยแม้แต่น้อย
ผมกลับสังเกตเห็นว่า
ทุกพระองค์ทรงมีความสุขยามที่ได้ทรงงานขจัดทุกข์ของประชาชนและแก้ไขปัญหาของแผ่นดิน
ระหว่างเสด็จฯ
ได้ทรงพระเมตตาสอนพวกเราในทุกอย่างได้เรียนรู้อย่างมากมายจากพระองค์ท่าน
และรู้จักทำงานให้แก่แผ่นดินอย่างแท้จริง
บางทีก็นำเสด็จฯ พระองค์หลงทางก็บ่อย ทั้งๆ ที่มีแผนที่
มีเครื่องไม้เครื่องมือพอสมควร
แต่ดูว่าพระองค์ทรงรู้จักแผ่นดินของพระองค์และคนของพระองค์ทุกกระเบียดนิ้ว
มีครั้งหนึ่งที่ภาคใต้ ทรงเปลี่ยนจุดโดยกะทันหัน
สร้างความโกลาหลให้แก่พวกเราเป็นอย่างมาก วันนั้นเสด็จฯ พรุแฆแฆ ย่ำค่ำแล้ว
มีรับสั่งว่าจะไปทอดพระเนตรอีกจุดหนึ่ง ต้องเปลี่ยนแผนกันกลางป่ากลางสวน
จนมีโอกาสได้พบลุงวาเด็ง ก็วันนั้นเอง สนุกสนานที่สุด
สำหรับ วาเด็ง ปูเต๊ะ หรือ เป๊าะเด็ง เป็นพระสหายแห่งสายบุรี แม้ในวัย ๙๓ ปี
แต่ความจงรักภักดีและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณไม่เคยเสื่อมคลาย ย้อนเวลากลับไปเมื่อประมาณ
๑๕ – ๑๖
ปีที่แล้ว ขณะที่ "เป๊าะเด็ง"
กำลังขะมักเขม้นอยู่กับการดูแลต้นทุเรียนและลองกองในสวน
ช่วงเวลาใกล้ค่ำได้เห็นคนกลุ่มหนึ่งเดินเข้ามา
หนึ่งในจำนวนนั้นได้กวักมือเรียกให้เข้าไปหา แต่ตัวผู้เฒ่าเองกลับรู้สึกกล้าๆ
กลัวๆ ไม่กล้าเข้าใกล้ ผู้เฒ่าเห็นทหารกลุ่มหนึ่งเดินเข้ามาและกล่าวว่า
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ พระราชดำเนินมาทอดพระเนตรความเป็นไปได้ ในการสร้างอาคารกั้นน้ำที่คลองน้ำจืดบ้านทุ่งเค็จ
ต.แป้น อ.สายบุรี
"วันนั้นเป๊าะกำลังทำสวนอยู่กับภรรยา
(นางสาลาเมาะ ปูเต๊ะ) บริเวณประตูน้ำบ้านบาเลาะ ต.ปะเสยะวอเป็นป่าทึบ
ก็มีคุณหญิงคนหนึ่งมาบอกว่า ในหลวง ต้องการพบตัวแต่ภรรยาไม่กล้าไปพบ
จนกระทั่งเป๊าะเลี้ยงโคกลับมา ก็มีตำรวจมาตามเป็นครั้งที่สอง
เป๊าะตกใจมากว่าตำรวจมาตามเรื่องอะไร เพราะไม่ได้ทำอะไรผิด
จนกระทั่งสื่อสารกันเข้าใจว่า ในหลวงต้องการมาสร้างฝายกั้นน้ำคลองน้ำจืด
บ้านทุ่งเค็จ ต.แป้น อ.สายบุรี
เพื่อช่วยเหลือเรื่องแหล่งน้ำแก่ชาวบ้านในการทำการเกษตร เป๊าะถึงกล้าไปพบ
แต่ตอนนั้นเป๊าะยังไม่ค่อยเชื่อว่าพระองค์จะเข้ามาอยู่ในป่าในเขาแบบนี้
จึงคิดว่าคนที่มาบอกโกหก ขนาดมาพบพระองค์แล้ว เป๊าะก็ยังไม่แน่ใจว่าเป็นในหลวงจริงหรือเปล่า
จึงแอบหยิบเงินใบละ ๑๐๐ บาท กับใบละ ๒๐ บาทขึ้นมาดู จึงแน่ใจว่าเป็นพระองค์เสด็จฯ
มาจริงๆ
ตอนแรกที่พบในหลวง เป๊าะก็ไม่กล้าเข้าไปใกล้ๆ
เพราะตอนนั้นนุ่งโสร่งตัวเดียว เสื้อก็ไม่ได้ใส่ด้วย แต่พอเข้าไปใกล้ๆ
ในหลวงก็ตรัสเป็นภาษามลายูว่า จะสร้างคลองชลประทานให้
หลังจากนั้นในหลวงท่านก็ทรงสอบถามเส้นทางการขุดคลองสายทุ่งเค็จว่ามีเขตติดต่อที่ไหนบ้าง
จึงได้เล่าให้ในหลวงทรงทราบว่าคลองเส้นนี้ทางเหนือจะติดเขตพื้นที่ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส
ในหลวงตรัสถามว่าหากออกไปทางทะเลจะมีเกาะกี่เกาะ เป๊าะก็ตอบพระองค์ไปว่ามี ๔ เกาะ
ในหลวงจึงทรงเอาแผนที่ที่นำติดตัวมาออกมาดูอีกครั้ง และตรัสชมว่า
วาเด็งเป็นคนรู้พื้นที่จริง...เหมือนกับชาวบ้านอีกหลายพื้นที่ที่พระองค์เคยเข้าไปช่วยเหลือมาแล้ว
พระองค์ยังตรัสด้วยว่า
"ไม่ว่าจะไปช่วยใครที่ไหนก็ต้องถามเจ้าของพื้นที่ก่อน...เพราะชาวบ้านจะรู้จริงกว่าคนอื่น"
วันรุ่งขึ้นข้าราชการที่มารับเสด็จก็ต้องตกตะลึงไปตามๆ กัน เมื่อพระองค์ทรงรับสั่งให้เป๊าะพายเรือให้พระองค์ เพื่อทำการสำรวจคลองสายทุ่งเค็จ พระองค์มีพระราชดำรัสถาม พร้อมเปิดแผนที่เพื่อให้รู้ว่าจะสร้างแหล่งชลประทานอย่างไร ตอนพายเรืออยู่ ในหลวงตรัสด้วยว่า "ให้วาเด็งทำตัวให้สบาย...มีอะไรที่ชาวบ้านเดือดร้อนก็ให้เล่ามาตามความจริง" เป๊าะจึงบอกในหลวงว่า เมื่อถึงเวลาหน้าฝน น้ำจะท่วม ทำนาไม่ได้ เมื่อถึงหน้าแล้ง ก็ทำนาไม่ได้ เพราะไม่มีน้ำทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน พระองค์ก็ตรัสกับเป๊าะอย่างไม่ถือพระองค์และตรัสถามอีกว่า ชาวบ้านทำการเกษตรอะไรบ้าง เป๊าะจึงตอบพระองค์ไปว่าชาวบ้านไม่เดือดร้อนอะไร ทุกคนทำการเกษตรตามวิถีชีวิตของคนชนบท คือ ปลูกพืชผักสวนครัว และทำสวนไว้กินกันทุกบ้าน
วันรุ่งขึ้นข้าราชการที่มารับเสด็จก็ต้องตกตะลึงไปตามๆ กัน เมื่อพระองค์ทรงรับสั่งให้เป๊าะพายเรือให้พระองค์ เพื่อทำการสำรวจคลองสายทุ่งเค็จ พระองค์มีพระราชดำรัสถาม พร้อมเปิดแผนที่เพื่อให้รู้ว่าจะสร้างแหล่งชลประทานอย่างไร ตอนพายเรืออยู่ ในหลวงตรัสด้วยว่า "ให้วาเด็งทำตัวให้สบาย...มีอะไรที่ชาวบ้านเดือดร้อนก็ให้เล่ามาตามความจริง" เป๊าะจึงบอกในหลวงว่า เมื่อถึงเวลาหน้าฝน น้ำจะท่วม ทำนาไม่ได้ เมื่อถึงหน้าแล้ง ก็ทำนาไม่ได้ เพราะไม่มีน้ำทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน พระองค์ก็ตรัสกับเป๊าะอย่างไม่ถือพระองค์และตรัสถามอีกว่า ชาวบ้านทำการเกษตรอะไรบ้าง เป๊าะจึงตอบพระองค์ไปว่าชาวบ้านไม่เดือดร้อนอะไร ทุกคนทำการเกษตรตามวิถีชีวิตของคนชนบท คือ ปลูกพืชผักสวนครัว และทำสวนไว้กินกันทุกบ้าน
จากนั้น ในหลวง คงจะทรงลองใจเป๊าะ
จึงตรัสถามขอที่ดินเพื่อทำโครงการพระราชดำริ
ด้วยความปลาบปลื้มเป๊าะจึงขอยกที่ดินถวายให้พระองค์ทันที ในหลวงจึงแย้มพระสรวล
และมีพระราชดำรัสว่าให้เป๊าะเป็น "พระสหาย" ตั้งแต่บัดนั้น
ในหลวงตรัสเรื่องนี้ว่า "วาเด็งเป็นคนซื่อตรง...จึงขอแต่งตั้งให้วาเด็งเป็นเพื่อนของในหลวง" พร้อมทรงชวนให้เป๊าะและภรรยาเดินทางไปเที่ยวที่กรุงเทพฯ
และเมื่อพระองค์เสด็จฯ
มาสามจังหวัดก็เรียกให้เข้าเฝ้าที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ทุกครั้ง
ต่อมาในหลวงทรงสงสาร จึงมอบเงินให้เป๊าะครั้งละหลายหมื่นบาท
หากไม่ได้เสด็จฯ มาก็ทรงฝากเงินมากับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แทบทุกครั้ง ล่าสุด
ในหลวงตรัสว่า "ให้วาเด็งหยุดทำงานได้แล้ว
เพราะแก่แล้ว อายุมากแล้ว ทรงเป็นห่วงสุขภาพของเป๊าะ กลัวว่าทำงานหนักจะไม่สบาย"
วาเด็ง ปูเต๊ะ เล่าถึงเหตุการณ์วันที่ได้รับเสด็จ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยไม่คาดฝัน จนกระทั่งได้กลายมาเป็น
"พระสหาย" แห่งสายบุรี ในเวลาต่อมา
วาเด็ง ปูเต๊ะ บอกอีกว่า ตอนที่ไม่มีทีวีให้ดู เวลาอยากเห็นหน้าในหลวง
ก็จะหยิบเงินมาดูก็พอหายคิดถึงได้บ้าง
พอมีทีวีแล้วก็จะรอดูแต่ข่าวในพระราชสำนักทุกวัน
แต่พอพระองค์ทรงพระประชวรก็ต้องมาตามดูข่าวในพระราชสำนักตอนกลางวัน และตอนค่ำด้วย
ตอนเมื่อเสด็จฯ กาฬสินธุ์ ขณะลงจาก ฮ. ก็รับสั่งว่าเดี๋ยวจะไปดูที่ลำพะยัง
จะไปก่อนก็ไม่ทัน พวกเราซึ่งถือเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งนั้น ทั้งช่างชลประทาน
ทหารแผนที่ มีทั้งชั้นพิเศษ พันเอก ดอกเตอร์ รีบวางแผนอย่างรวดเร็ว
พอขบวนเคลื่อนก็ยังไม่ประมาทอุ้มชาวบ้านที่เดินอยู่ข้างๆ ทาง
นุ่งผ้าขาวม้าอยู่ผืนเดียวเอาขึ้นรถไปด้วย เพราะถามแล้วเขาตอบมาว่า รู้จักที่ที่จะไปก็นำเสด็จฯ
ไปเรื่อย ถามชาวบ้านคนนั้นไป เอาไฟฉายส่องแผนที่ไป ลุยป่าไปเรื่อยจนถนนไม่มี
ก็แล่นกระโดกกระดากไปตามท้องลำธารบนหินก้อนโตๆ เลยได้รับพระราชทานนามว่า ทางดิสโก้
ขย้อนโขยกไปตลอดทาง สุดท้ายไปเจอคันนายาว ไปไม่รอด ขบวนไปนิ่งสนิทอยู่กลางทุ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ
ลงจากพระที่นั่ง ทรงดุพวกเรามาแต่ไกลว่า จะไปไหน หลงทางตั้งแต่แยกแรกแล้ว ไม่ใช่
ไม่ใช่ ทางนี้อยู่ใกล้นิดเดียว เผอิญเป็นเวลาค่ำคืนจึงไม่เห็นหน้าพวกเรา
ซึ่งเคยบานเป็นตะโก้ บัดนี้เหลือที่เขาเรียกว่าหน้าเหลือสองนิ้ว เท่านั้น ขาออกมาแทนที่จะนำเสด็จฯ
กลับต้องขับรถพวกเราตามเสด็จฯ โดยทรงนำทางตลอด ประเดี๋ยวเดียวก็ถึงดังที่รับสั่ง
ก็เป็นเรื่องครื้นเครงสนุกสนานสำหรับพวกเราอีกครั้งไม่ทรงกริ้วอะไร
วันนั้นเอง ชาวบ้านเอาข้าวรวงเล็กๆ มาถวายให้ทอดพระเนตร รวงหนึ่งมีข้าวแค่
๓ – ๔ เมล็ด เพราะแห้งแล้งมากชาวบ้านเอามือขุดดินโรยเมล็ดข้าวลงไป
แล้วรอน้ำค้างมาให้ความชื้น ก็เป็นที่มาของพระราชกระแสรับสั่งว่า “เกษตรน้ำค้าง” และน่าปราบปลื้มใจเป็นอย่างยิ่งว่า
บัดนี้ในบริเวณดังกล่าวได้แปรสภาพจากเกษตรน้ำค้างเป็นเกษตรชลประทานที่อุดมสมบูรณ์
เปลี่ยนสภาพไปอย่างไม่น่าเชื่อ
ตามเสด็จฯ ทางเหนือใช้ ฮ. เป็นหลัก ลงจาก
ฮ. แล้วบางที่ต้องเดินเป็นระยะไกลๆ ข้ามเนินเขาลงหุบห้วย ผ่านไปในนาข้าว บางทีฝนตก
กว่าจะถึงยอดเนินก็ทรุดตัวลงนั่งหอบแฮกๆ กันทุกคน
แต่พระองค์กลับประทับผืนกางแผนที่เหลียวจะสั่งงานใครก็ลงไปทรุดนั่งป้อแป้กันหมด
เลยรับสั่งว่า ไม่เห็นจะสู้คนอายุ ๖๐ ได้สักคน พวกเราก็ถวายยิ้มแหยๆ แห้งๆ ไป
ตามระเบียบ ก็ต้องยอมรับว่าสู้พระองค์ไม่ได้เลยจริงๆ
ภาพที่ประทับใจและจดจำไม่เคยลืม มีอีกภาพหนึ่ง คือ
หลังจากที่ทรงพระประชวรในช่วงเวลาหนึ่งนั้น ก็เสด็จฯ ออกครั้งแรก
จำได้แม่นยำว่าเป็นที่ชะอำ ที่เป็นสถานที่ตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายในวันนี้
ได้เสด็จฯ ออกทรงงานเป็นครั้งแรกหลังจากว่างเว้นมานาน
หลังจากมีพระราชกระแสพระราชทานแนวทางหลักๆ แล้ว ได้หยุดขบวนประทับ
เบื้องหน้าเป็นหุบเขาเรียกว่าหุบสบู่ เวลานั้นตะวันหลบแล้ว แต่ยังมีแสงเรืองรองอยู่
นกบินกลับรังเป็นฝูงๆ ทรงฉายภาพวิวรอบๆ อากาศร่มลมพัดเย็นสบาย
มีพระพิรุณโปรยมาบางๆ ชุ่มชื้นแต่ไม่เปียก วันนั้นทรงมีความสุขมาก
รับสั่งขึ้นมาลอยๆ ว่า ไม่ได้เสด็จฯ ออกมานานแล้ว
และเห็นชัดเจนว่าทรงพระเกษมสำราญเหลือเกินที่มีโอกาสทำงานให้พสกนิกรของพระองค์อีกครั้งหนึ่ง
หลังจากนั้น จังหวะงานที่ทรงอยู่ก็เริ่มต้นอย่างทรงพลังอีกครั้งหนึ่ง
โครงการพระราชดำริ โครงการแล้วโครงการเล่า ก็ได้จัดทำขึ้นมาทุกหัวระแหงของแผ่นดิน
ระหว่างที่ถวายงานอยู่
คราวจะแปรพระราชฐาน บางครั้งพวกเราติดงานไปก่อนไม่ได้ จะไปหลังก็จะถวายงานไม่ทัน
ก็จะขอพระราชทานพระเมตตาอาศัยเครื่องบินพระที่นั่งตามเสด็จฯ ไปด้วย
ซึ่งจะต้องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อนทุกครั้ง ทรงมีพระเมตตาพระราชทานให้
พวกฝ่ายในวังก็จะรู้มักจะจัดให้เรานั่งแถวหน้าของส่วนผู้ติดตามขบวน
เพราะเกือบทุกครั้งจะมีการสั่งงานบนเครื่องบินพระที่นั่งนั่นเอง หลายครั้งก็เสด็จฯ
มาสั่งงานตรงที่พวกเรานั่งอยู่ จะประทับยืนสั่งงานโดยมีพวกเรานั่งพับเพียบกับพื้นเครื่องบินพระที่นั่ง
บางครั้งทรงสั่งงานยาวมากจนเครื่องบินบินถึงปลายทางก็มี มีอยู่ครั้งหนึ่งเสด็จฯ
นราธิวาส เครื่องบินลงแต่รันเวย์แล้วพระองค์ก็ยังคงประทับยืนอยู่อย่างนั้น
จะกราบบังคมทูลให้ประทับนั่งเพื่อความปลอดภัยก็ไม่กล้า
บางโครงการ เช่น โครงการยึกยือก็เกิดบนนภาอากาศนั่นเอง วันนั้นเสด็จฯ
แปรพระราชฐานในสกลนคร ระหว่างบินมหาดเล็กมาตามตัวไปเฝ้า เมื่อเข้าเฝ้าฯ
พระองค์ประทับเสวยพระกระยาหารว่างอยู่ ก็รับสั่งเรื่องน้ำก่ำ
อยากจะให้ทดลองกั้นลำน้ำก่ำเป็นช่วงๆ ยามหน้าน้ำจะได้ปิดกันน้ำไว้ให้ราษฎรได้ใช้
ไม่ต้องให้ไหลลงแม่น้ำโขงอย่างเปล่าประโยชน์ระหว่างรับสั่งก็ทรงหยิบเศษกระดาษมาแผ่นหนึ่ง
ทรงวาดเค้าโครงร่างๆ
ออกมาเป็นลำน้ำก่ำคดเคี้ยวหยักไปตามสภาพจริงและขีดเส้นกั้นเป็นระยะๆ
เมื่อทรงวาดเสร็จ พระราชทานพระราชดำริเสด็จ ก็ทอดพระเนตรรูปนั้น
ซึ่งมีลักษณะเหมือนตัวหนอนตัวบุ้งอะไรทำนองนั้น เลยรับสั่งว่าเหมือน “ยึกยือ” นะ ก็เลยเป็นชื่อเล่นสำหรับโครงการนั้นไปว่า
“โครงการยึกยือ” พวกเราก็เข้าใจว่าเป็นน้ำก่ำ
พอได้ฟังแล้วพวกเราชาวไทยทุกคนควรจะได้ทราบว่าจุดกำเนิดของโครงการนั้น
ไม่ใช่เพียงเริ่มจากห้องทรงงานบนพื้นดิน ในน้ำเมื่อเสด็จประพาสทางเรือ
แม้บนอากาศก็ยังทรงคิดงานที่จะช่วยเหลือประชาชน นั่นคือภาพที่ไม่สามารถจะลืมได้
สำหรับวัดมงคลชัยพัฒนาที่ทรงรำลึก ถึงเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม
ตามที่เริ่มเรื่องไว้นั้น
ก็มีจุดกำเนิดที่สนุกสนานยิ่งมีรับสั่งให้ไปหาที่และวัดที่มีลักษณะอย่างนั้นๆ
มีอายุประมาณนั้น โดยรับสั่งเป็นเรื่องนวนิยายว่า มีพระเอกชื่ออะไรก็สงวนไว้ก่อน
ติดตามปู่ไปทำบุญที่พระพุทธบาทในยุดสมัยรัชกาลที่ ๕ ขากลับได้แวะทำบุญเป็นเงิน ๘๐
ชั่ง บางครั้งก็พระราชทานโจทย์มาอย่างนี้
พวกเราจึงต้องใช้ปัญญารอบด้านขบปัญหาและโจทย์ให้แตก มิฉะนั้นจะถวายงานไม่สำเร็จแน่
มีพระราชกระแสเพียงแค่นี้ก็ต้องขวนขวายให้พบ และก็พบวัดมงคลนี่แหละ
ก็รับสั่งว่าใช่ ก่อนจะไปสำรวจก็มีเรื่องประหลาดอีก พวกเราปลอมตัวไป
ชาวบ้านก็เล่าให้ฟังว่ามีหลายคนฝันถึงพระเจ้าอยู่หัว และโบสถ์ที่ยังสร้างค้างอยู่
จะมีผู้สูงศักดิ์มาช่วยให้สำเร็จ
วันรุ่งขึ้นพวกเราก็แปลงกายเป็นพ่อเลี้ยงมากว้านหาซื้อที่ เจรจาไม่ค่อยจะสำเร็จ
ชาวบ้านกลัวเป็นนายทุนมาหลอก
ก็บอกเขาว่าซื้อแล้วไม่เอาไปไหนหรอกพัฒนาแล้วก็เป็นประโยชน์แก่ชาวบ้านเอง
ใครจะเชื่อ นายทุนอย่างนี้มีด้วยหรือ? ความมาแตกเอาตอนที่เจรจาซื้อที่ของลุงสมจิต
เผอิญมีปฏิทินแขวนอยู่ข้างฝาบ้านเป็นรูปพระเจ้าอยู่หัว กำลังเสด็จฯ อยู่แห่งหนึ่ง
มีพวกเราทั้งฝูงตามเสด็จฯ อยู่ ลุงสมจิตเหลือบไปเห็นปฏิทินแล้วมองหน้าพวกเรา
เจอะหน้าแต่ละคนเหมือนบนปฏิทินยังกับแกะ ความลับเลยแตก
พ่อเลี้ยงตัวปลอมเลยต้องสารภาพเปิดเผยตัว การซื้อที่ดินก็เลยสะดวกโยธิน
พอชาวบ้านรู้ ป้าบุญเรืองก็ถวายเพิ่มอีกหลายแปลง เป็นพระบารมีโดยแท้
ต่อจากนั้น ก็ลงมือพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ยึดหลักชาวบ้าน วัด ราชการ
(โรงเรียนด้วย) ให้ประสาน ๓ส่วนด้วยกัน โดยมีพระเป็นศูนย์กลาง มาทำบุญ
แล้วก็มาเรียนรู้การเกษตรหลังวัดได้ ทำแหล่งน้ำ ปลูกข้าว ปลูกไม้ไร่ ไม้สวน
ครบถ้วน พอวันเสด็จฯ มา ทรงพอพระทัยมาก ระหว่างเสด็จฯ
พระราชดำเนินเลาะริมสระน้ำอยู่ ก็รับสั่งว่า “รูปแบบการพัฒนานี้เป็นรูปแบบที่ดี
มีหกอย่างในแปลง ชาวบ้านเขามีกินมีใช้มีอยู่ ฝนทิ้งช่วงก็มีน้ำในสระคอยพยุงไว้ เป็นทฤษฎีใหม่นะ”
ณ วันนั้น เวลานั้น
ชื่อโครงการทฤษฎีใหม่ซึ่งแพร่ขยายไปทั่วประเทศในขณะนี้ก็อุบัติขึ้น
จะเห็นว่า
โครงการแต่ละโครงการมีเบื้องหลังที่น่าจดจำสร้างความตื่นเต้นสนุกสนาน
เพลิดเพลินยิ่งนัก จนลืมความเหน็ดความเหนื่อยไปหมด ดังที่ได้ทรงปรารภขึ้นมาเมื่อเย็นวันที่
๕ พฤษภาคม ๒๕๔๘ วันฉัตรมงคลวันที่มีความหมายสำคัญยิ่งสำหรับพวกเราชาวไทย
วันนี้ พวกเราต้องพูดตรงๆ ว่า พวกเราเหงามาก ไม่ค่อยได้มีโอกาสตามเสด็จฯ
โดยมีพระองค์เสด็จฯ นำหน้าเราเหมือนในอดีต วันที่รับสั่งจึงรู้สึกสะท้อนใจมาก “ประโยชน์สุข” ที่ทรงสร้างให้แก่แผ่นดินนั้นยิ่งใหญ่
ยากจะอรรถาธิบายเรียบเรียงมาครบถ้วนให้ได้รับทราบ
ทั้งในความรู้สึกในส่วนลึกของหัวใจ จะมีแดดแผดเผา จะมีฝนตกไม่ลืมหูลืมตา
จะย่ำโคลนน้ำท่วม จะไต่เขาสักกี่ลูก เพื่อพสกนิกรชาวไทย ได้ทรงทำมาหมดตลอดเวลา ๕๙
ปี ทำให้แผ่นดินนี้มั่นคง มั่งคั่งพสกนิกรอยู่เย็นเป็นสุข
พวกเราคงต้องรักษาทะนุถนอมสมบัติชาติของเราไว้
ช่วยแบ่งเบาพระราชภาระที่ทรงแบกหนักอึ้งมาตลอดเวลายาวนานถึงครึ่งศตวรรษกว่า
โดยยึดหลัก “รู้ รัก สามัคคี” สละประโยชน์ส่วนน้อยของเรา
เพื่อประโยชน์ส่วนรวมที่ใหญ่กว่า แผ่นดินนี้จะได้ตกถึงลูกหลานเหลนตลอดไป
_______________________________
คิดถึงพระเจ้าอยู่หัว
อรอนันต์
วุฒิเสน
แสงตะวันลาลับขอบฟ้าไปนานแล้ว
ความมืดมิดปกคลุมไปทั่วบริเวณพื้นที่สวนสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี อำเภอชะอำ
จังหวัดเพชรบุรี มีเพียงแสงไฟจากสปอตไลท์และไฟฉายส่องนำทาง มีเพียงเสียงพูดคุยเบาๆ
ของผู้รอเฝ้ารับเสด็จฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จะเสด็จฯ
มาเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อทรงปฏิบัติพระราชกิจในพื้นที่ซึ่งเป็นของมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นพื้นที่ศึกษา
ทดลองการปลูกพืชต่างๆ ในลักษณะผสมผสานให้เกิดความหลากหลาย รวมทั้งสมุนไพรต่างๆ
เมื่อเสด็จฯ
ถึงพื้นที่โครงการทรงพระดำเนินผ่านกลุ่มราษฎร
ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทำงานอยู่ในสวนสมเด็จพระศรีฯ แห่งนี้
ต่างหมอบกราบถวายความจงรักภักดี ทรงพระเจริญ ทรงพระเจริญ
เสียงที่เปล่งออกมาจากความรู้สึก จากใจ ตลอดระยะทางที่ทรงพระดำเนินผ่าน
ทรงติดตามการดำเนินงานและความก้าวหน้าในกิจกรรมต่างๆ ที่มีอยู่ในสวนสมเด็จพระศรีฯ
ทรงซักถามถึงผลของการศึกษาทดลองเกี่ยวกับปาล์มน้ำมัน สบู่ดำ และ สะเดา
จากผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
กรมวิชาการเกษตร และกรมป่าไม้ ด้วยความสนพระทัยอย่างยิ่ง
ในวันนั้น
กว่าจะเสด็จพระราชกิจก็เป็นเวลาดึกแล้ว
แต่ก็มิได้ทรงเหน็ดเหนื่อยและอ่อนล้าแต่อย่างใด ทรงพระเกษมสำราญเป็นอย่างมาก
พลอยทำให้ผู้ที่เฝ้าถวายงานมีความสุขและหายเหนื่อยล้ากันทุกคน
ก่อนที่จะเสด็จฯ
ขึ้นประทับรถยนต์พระที่นั่งกลับ มีราษฎรในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ
ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้ชีวิตใหม่มีความสุข
รอเฝ้าส่งเสด็จฯ อยู่ใกล้ๆ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ทรงพระดำเนินเข้าไปหาและรับสั่งถึงชีวิตความเป็นอยู่หลังจากที่ลุงซบ นาคนุเคราะห์
และลุงมาน สมีหวัง ทั้งสองอยู่ในวัยกว่า ๘๐ ปี ได้นำแนวพระราชดำริ ทฤษฎีใหม่
ไปปรับใช้ในพื้นที่การเกษตรของตนเองและประสบความสำเร็จ
สามารถลดค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารการกินในบ้าน เพราะมีสวนพืชผัก ผลไม้ วัวนม
และเป็นที่พึ่งให้ลูกหลานที่ตกงานในช่วงฟองสบู่แตกได้ จนเป็นตัวอย่างให้ใครต่อใครเข้ามาดู
และขอคำปรึกษาอย่างมากมาย
คิดถึงพระเจ้าอยู่หัว
ลุงซบกราบบังคมทูลถึงสองครั้งจากความรู้สึกที่ออกมาจากใจ
แต่เป็นคำพูดที่พูดแทนหัวใจของผู้ที่อยู่ในบริเวณนั้นและคนไทยทุกๆ คนด้วย
ลุงซบเป็นอิหม่ามประจำมัสยิดดนูรุ้ลเอี๊ยะห์ซานในโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนา
ห้วยทรายฯ
ใครพากันสงสัยว่าลุงซบมาเข้าเฝ้าฯ
ในวันนี้ได้อย่างไร เพราะเป็นการเสด็จฯ แบบเงียบๆ ลุงซบเล่าให้ฟังว่า
เมื่อคืนฝันถึงสมเด็จพระเทพ พอตื่นเช้ามาทราบว่าท่านจะมา ก็เลยมารอ เป็นคำตอบ
ง่ายๆ แต่มีความหมายพิเศษ
ความหมายแห่งความจงรักภักดีแฝงอยู่ในทุกคำพูดของชายชราชาวมุสลิม
เดี๋ยวจะไปไกลกังวล
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงแย้มพระสลวล
และมีรับสั่งกับลุงซบอย่างเป็นกันเอง วันหลังจะมาให้สว่างๆ กว่านี้
คืนนั้น
ผู้ที่อยู่บริเวณสวนสมเด็จพระศรีฯ และโดยเฉพาะลุงซบ ลุงมาน
ต่างปลาบปลื้มและเป็นสุขที่ได้มีโอกาสถวายงานสนองพระราชดำริ
เพื่อทำให้ทุกชีวิตในแผ่นดินไทยมีความสุข มีชีวิตที่ดีขึ้น
และต่างเฝ้ารอวันที่จะได้มีโอกาสชื่นชมพระบารมี เข้าเฝ้าฯ อย่างใกล้ชิดอีก
_______________________________
ในหลวงกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
“...คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขาจะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งใหม่แต่เราอยู่ อย่างพอมีพอกิน และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกิน มีความสงบ ช่วยกันรักษาส่วนร่วม ให้อยู่ที่พอสมควรขอย้ำพอควร พออยู่พอกิน มีความสงบไม่ให้คนอื่นมาแย่งคุณสมบัตินี้ไปจากเราได้...”
“...คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขาจะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งใหม่แต่เราอยู่ อย่างพอมีพอกิน และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกิน มีความสงบ ช่วยกันรักษาส่วนร่วม ให้อยู่ที่พอสมควรขอย้ำพอควร พออยู่พอกิน มีความสงบไม่ให้คนอื่นมาแย่งคุณสมบัตินี้ไปจากเราได้...”
พระราชกระแสรับสั่งในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงแก่ผู้เข้าเฝ้าถวายพระพรชัยมงคล
เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาแต่พระพุทธศักราช ๒๕๑๗
การจะเป็นเสือนั้นมันไม่สำคัญ
สำคัญอยู่ที่เราพออยู่พอกิน และมีเศรษฐกิจการเป็นอยู่แบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกิน
หมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง
- พระราชดำรัส
"เศรษฐกิจแบบพอเพียง" พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระราชทานเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๐
เศรษฐกิจพอเพียง
เป็นปรัชญาที่ยึดหลักทางสายกลาง
ที่ชี้แนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติของประชาชนในทุกระดับ
ตั้งแต่ระดับครอบครัวไปจนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศ
ให้ดำเนินไปในทางสายกลาง มีความพอเพียง
และมีความพร้อมที่จะจัดการต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน
ซึ่งจะต้องอาศัยความรอบรู้ รอบคอบ และระมัดระวัง
ในการวางแผนและดำเนินการทุกขั้นตอน เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เพียงการประหยัด
แต่เป็นการดำเนินชีวิตอย่างสมดุลและยั่งยืน
เพื่อให้สามารถอยู่ได้แม้ในโลกโลกาภิวัตน์ที่มีการแข่งขันสูง
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ทรงปรับปรุงพระราชทานเป็นที่มาของนิยาม
"๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข" ที่ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
นำมาใช้ในการรณรงค์เผยแพร่ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านช่องทางต่างๆ
อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วยความ "พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน"
บนเงื่อนไข "ความรู้ และ คุณธรรม"
อภิชัย พันธเสน
ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม ได้จัดแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็น
"ข้อเสนอในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตามแนวทางของพุทธธรรมอย่างแท้จริง"
ทั้งนี้เนื่องจากในพระราชดำรัสหนึ่ง ได้ให้คำอธิบายถึงเศรษฐกิจพอเพียงว่า
"คือความพอประมาณ ซื่อตรง ไม่โลภมาก และต้องไม่เบียดเบียนผู้อื่น"
ระบบเศรษฐกิจพอเพียง
มุ่งเน้นให้บุคคลสามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน
และใช้จ่ายเงินให้ได้มาอย่างพอเพียงและประหยัด ตามกำลังของเงินของบุคคลนั้น
โดยปราศจากการกู้หนี้ยืมสิน และถ้ามีเงินเหลือ ก็แบ่งเก็บออมไว้บางส่วน
ช่วยเหลือผู้อื่นบางส่วน และอาจจะใช้จ่ายมาเพื่อปัจจัยเสริมอีกบางส่วน
(ปัจจัยเสริมในที่นี้ เช่น ท่องเที่ยว ความบันเทิง เป็นต้น)
สาเหตุที่แนวทางการดำรงชีวิตอย่างพอเพียง ได้ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในขณะนี้
เพราะสภาพการดำรงชีวิตของสังคมทุนนิยมในปัจจุบันได้ถูกปลูกฝัง สร้าง หรือกระตุ้น
ให้เกิดการใช้จ่ายอย่างเกินตัว
ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องหรือเกินกว่าปัจจัยในการดำรงชีวิต เช่น การบริโภคเกินตัว
ความบันเทิงหลากหลายรูปแบบ ความสวยความงาม การแต่งตัวตามแฟชั่น
การพนันหรือเสี่ยงโชค เป็นต้น
จนทำให้ไม่มีเงินเพียงพอเพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านั้น
ส่งผลให้เกิดการกู้หนี้ยืมสิน เกิดเป็นวัฏจักรที่บุคคลหนึ่งไม่สามารถหลุดออกมาได้
ถ้าไม่เปลี่ยนแนวทางในการดำรงชีวิต
" ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข
" จากปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
หลายท่านคงเคยได้ยินเกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกันเป็นอย่างดี แต่พอถามว่า “๓
ห่วง ๒ เงื่อนไข” มีอะไรบ้างในข้อสอบ บรรดานักศึกษาล้วนอึ้งไปตามๆ กัน
ความจริงแล้วเป็นการสรุปแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในมุมมองง่ายๆ ลองศึกษากันดูนะคะ
๓ ห่วง ประกอบด้วย
- ความพอประมาณ หมายถึง
ความพอดี ที่ไม่น้อยเกินไป
และไม่มากเกินไปโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
- ความมีเหตุผล หมายถึง
การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจาการกระทำนั้นๆ
อย่างรอบคอบ
-
มีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวเอง หมายถึง
การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล
๒. เงื่อนไข ประกอบด้วย
-
เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบ
ที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน
เพื่อประกอบการวางแผนและความระมัดระวังในขึ้นปฏิบัติ
-
เงื่อนไขคุณธรรมที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วยมีความตะหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความอดทน
มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิตไม่โลภ และไม่ตระหนี่
เศรษฐกิจแบบพอเพียง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงเข้าพระราชหฤทัยในความเป็นไปของเมืองไทยและคนไทยอย่างลึกซึ้งและกว้างไกล
ได้ทรงวางรากฐานในการพัฒนาชนบท และช่วยเหลือประชาชนให้สามารถพึ่งตนเองได้มีความ
" พออยู่พอกิน" และมีความอิสระที่จะอยู่ได้โดยไม่ต้องติดยึดอยู่กับเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกาภิวัฒน์
ทรงวิเคราะห์ว่าหากประชาชนพึ่งตนเองได้แล้วก็จะมีส่วนช่วยเหลือเสริมสร้างประเทศชาติโดยส่วนรวมได้ในที่สุด
พระราชดำรัสที่สะท้อนถึงพระวิสัยทัศน์ในการสร้างความเข้มแข็งในตนเองของประชาชนและสามารถทำมาหากินให้พออยู่พอกินได้
ดังนี้
"….ในการสร้างถนน
สร้างชลประทานให้ประชาชนใช้นั้น
จะต้องช่วยประชาชนในทางบุคคลหรือพัฒนาให้บุคคลมีความรู้และอนามัยแข็งแรง
ด้วยการให้การศึกษาและการรักษาอนามัย เพื่อให้ประชาชนในท้องที่สามารถทำการเกษตรได้
และค้าขายได้…"
ในสภาวการณ์ปัจจุบัน ซึ่งเกิดความถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงขึ้นนี้จึงทำให้เกิดความเข้าใจได้ชัดเจนในแนวพระราชดำริของ "เศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งได้ทรงคิดและตระหนักมาช้านาน เพราะหากเราไม่ไปพี่งพา
ยึดติดอยู่กับกระแสจากภายนอกมากเกินไป จนได้ครอบงำความคิดในลักษณะดั้งเดิมแบบไทยๆ
ไปหมด มีแต่ความทะเยอทะยานบนรากฐานที่ไม่มั่นคงเหมือนลักษณะฟองสบู่ วิกฤตเศรษฐกิจเช่นนี้อาจไม่เกิดขึ้น
หรือไม่หนักหนาสาหัสจนเกิดความเดือดร้อนกันถ้วนทั่วเช่นนี้ ดังนั้น "เศรษฐกิจพอเพียง" จึงได้สื่อความหมาย
ความสำคัญในฐานะเป็นหลักการสังคมที่พึงยึดถือ
ในทางปฏิบัติจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงคือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น
เศรษฐกิจพอเพียงเป็นทั้งหลักการและกระบวนการทางสังคม ตั้งแต่ขั้นฟื้นฟูและขยายเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน
เป็นการพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตและบริโภคอย่างพออยู่พอกินขึ้นไปถึงขั้นแปรรูปอุตสาหกรรมครัวเรือน
สร้างอาชีพและทักษะวิชาการที่หลากหลายเกิดตลาดซื้อขาย สะสมทุน ฯลฯ บนพื้นฐานเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชนนี้
เศรษฐกิจของ ๓ ชาติ
จะพัฒนาขึ้นมาอย่างมั่นคงทั้งในด้านกำลังทุนและตลาดภายในประเทศ
รวมทั้งเทคโนโลยีซึ่งจะค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาจากฐานทรัพยากรและภูมิปัญญาที่มีอยู่ภายในชาติ
และทั้งที่จะพึงคัดสรรเรียนรู้จากโลกภายนอก
เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเศรษฐกิจที่พอเพียงกับตัวเอง ทำให้อยู่ได้
ไม่ต้องเดือดร้อน มีสิ่งจำเป็นที่ทำได้โดยตัวเองไม่ต้องแข่งขันกับใคร
และมีเหลือเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ไม่มี อันนำไปสู่การแลกเปลี่ยนในชุมชน
และขยายไปจนสามารถที่จะเป็นสินค้าส่งออก
เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเศรษฐกิจระบบเปิดที่เริ่มจากตนเองและความร่วมมือ
วิธีการเช่นนี้จะดึงศักยภาพของ ประชากรออกมาสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว
ซึ่งมีความผู้พันกับ “จิตวิญญาณ” คือ “คุณค่า” มากกว่า “มูลค่า”
ในระบบเศรษฐกิจพอเพียงจะจัดลำดับความสำคัญของ “คุณค่า” มากกว่า “มูลค่า” มูลค่านั้นขาดจิตวิญญาณ
เพราะเป็นเศรษฐกิจภาคการเงิน
ที่เน้นที่จะตอบสนองต่อความต้องการที่ไม่จำกัดซึ่งไร้ขอบเขต
ถ้าไม่สามารถควบคุมได้การใช้ทรัพยากรอย่างทำลายล้างจะรวดเร็วขึ้นและปัญหาจะตามมา
เป็นการบริโภคที่ก่อให้เกิดความทุกข์หรือพาไปหาความทุกข์
และจะไม่มีโอกาสบรรลุวัตถุประสงค์ในการบริโภค ที่จะก่อให้ความพอใจและความสุข (Maximization
of Satisfaction) ผู้บริโภคต้องใช้หลักขาดทุนคือกำไร (Our
loss is our gain) อย่างนี้จะควบคุมความต้องการที่ไม่จำกัดได้
และสามารถจะลดความต้องการลงมาได้
ก่อให้เกิดความพอใจและความสุขเท่ากับได้ตระหนักในเรื่อง “คุณค่า”
จะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้
ไม่ต้องไปหาวิธีทำลายทรัพยากรเพื่อให้เกิดรายได้มาจัดสรรสิ่งที่เป็น “ความอยากที่ไม่มีที่สิ้นสุด” และขจัดความสำคัญของ “เงิน” ในรูปรายได้ที่เป็นตัวกำหนดการบริโภคลงได้ระดับหนึ่ง
แล้วยังเป็นตัวแปรที่ไปลดภาระของกลไกของตลาดและการพึ่งพิงกลไกของตลาด
ซึ่งบุคคลโดยทั่วไปไม่สามารถจะควบคุมได้
รวมทั้งได้มีส่วนในการป้องกันการบริโภคเลียนแบบ (Demonstration Effects) จะไม่ทำให้เกิดการสูญเสีย จะทำให้ไม่เกิดการบริโภคเกิน (Over
Consumption) ซึ่งก่อให้เกิดสภาพเศรษฐกิจดี สังคมไม่มีปัญหา
การพัฒนายั่งยืน
การบริโภคที่ฉลาดดังกล่าวจะช่วยป้องกันการขาดแคลน
แม้จะไม่ร่ำรวยรวดเร็ว แต่ในยามปกติก็จะทำให้ร่ำรวยมากขึ้น
ในยามทุกข์ภัยก็ไม่ขาดแคลน และสามารถจะฟื้นตัวได้เร็วกว่า
โดยไม่ต้องหวังความช่วยเหลือจากผู้อื่นมากเกินไป
เพราะฉะนั้นความพอมีพอกินจะสามารถอุ้มชูตัวได้ ทำให้เกิดความเข้มแข็ง
และความพอเพียงนั้นไม่ได้หมายความว่า ทุกครอบครัวต้องผลิตอาหารของตัวเอง
จะต้องทอผ้าใส่เอง แต่มีการแลกเปลี่ยนกันได้ระหว่างหมู่บ้าน เมือง
และแม้กระทั่งระหว่างประเทศ ที่สำคัญคือการบริโภคนั้นจะทำให้เกิดความรู้ที่จะอยู่ร่วมกับระบบ
รักธรรมชาติ ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง เพราะไม่ต้องทิ้งถิ่นไปหางานทำ
เพื่อหารายได้มาเพื่อการบริโภคที่ไม่เพียงพอ
ประเทศไทยอุดมไปด้วยทรัพยากร และยังมีพอสำหรับประชาชนไทยถ้ามีการจัดสรรที่ดี
โดยยึด "คุณค่า" มากกว่า "มูลค่า" ยึดความสัมพันธ์ของ “บุคคล” กับ “ระบบ” และปรับความต้องการที่ไม่จำกัดลงมาให้ได้ตามหลักขาดทุนเพื่อกำไร
และอาศัยความร่วมมือเพื่อให้เกิดครอบครัวที่เข้มแข็งอันเป็นรากฐานที่สำคัญของระบบสังคม
การผลิตจะเสียค่าใช้จ่ายลดลง ถ้ารู้จักนำเอาสิ่งที่มีอยู่ในขบวนการธรรมชาติ
มาปรุงแต่งตามแนวพระราชดำริในเรื่องต่างๆ
ที่กล่าวมาแล้วซึ่งสรุปเป็นคำพูดที่เหมาะสมตามที่ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
ที่ว่า “…ทรงปลูกแผ่นดิน ปลูกความสุข ปลดความทุกข์ของราษฎร” ในการผลิตนั้นจะต้องทำด้วยความรอบคอบไม่เห็นแก่ได้
จะต้องคิดถึงปัจจัยที่มีและประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้อง
มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาอย่างเช่นบางคนมีโอกาสทำโครงการแต่ไม่ได้คำนึงว่าปัจจัยต่าง ๆ
ไม่ครบ ปัจจัยหนึ่งคือขนาดของโรงงาน หรือเครื่องจักรที่สามารถที่จะปฏิบัติได้
แต่ข้อสำคัญที่สุด คือวัตถุดิบ ถ้าไม่สามารถที่จะให้ค่าตอบแทนวัตถุดิบแก่เกษตรกรที่เหมาะสม
เกษตรกรก็จะไม่ผลิต ยิ่งถ้าใช้วัตถุดิบสำหรับใช้ในโรงงานั้น
เป็นวัตถุดิบที่จะต้องนำมาจากระยะไกล หรือนำเข้าก็จะยิ่งยาก
เพราะว่าวัตถุดิบที่นำเข้านั้นราคายิ่งแพง บางปีวัตถุดิบมีบริบูรณ์
ราคาอาจจะต่ำลงมา แต่เวลาจะขายสิ่งของที่ผลิตจากโรงงานก็ขายยากเหมือนกัน
เพราะมีมากจึงทำให้ราคาตก หรือกรณีใช้เทคโนโลยีทางการเกษตร
เกษตรกรรู้ดีว่าเทคโนโลยีทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น และผลผลิตที่เพิ่มนั้นจะล้นตลาด
ขายได้ในราคาที่ลดลง ทำให้ขาดทุน ต้องเป็นหนี้สิน
การผลิตตามทฤษฎีใหม่สามารถเป็นต้นแบบการคิดในการผลิตที่ดีได้ ดังนี้
๑. การผลิตนั้นมุ่งใช้เป็นอาหารประจำวันของครอบครัว
เพื่อให้มีพอเพียงในการบริโภคตลอดปี เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวันและเพื่อจำหน่าย
๒. การผลิตต้องอาศัยปัจจัยในการผลิต
ซึ่งจะต้องเตรียมให้พร้อม เช่น การเกษตรต้องมีน้ำ การจัดให้มีและดูแหล่งน้ำ จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งการผลิต
และประโยชน์ใช้สอยอื่นๆ
๓. ปัจจัยประกอบอื่นๆ
ที่จะอำนวยให้การผลิตดำเนินไปด้วยดี และเกิดประโยชน์เชื่อมโยง (Linkage) ที่จะไปเสริมให้เกิดความยั่งยืนในการผลิต จะต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายทั้ง
เกษตรกร ธุรกิจ ภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจพอเพียงเข้ากับเศรษฐกิจการค้า
และให้ดำเนินกิจการควบคู่ไปด้วยกันได้
การผลิตจะต้องตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “บุคคล” กับ “ระบบ” การผลิตนั้นต้องยึดมั่นในเรื่องของ
“คุณค่า” ให้มากกว่า “มูลค่า” ดังพระราชดำรัส
ซึ่งได้นำเสนอมาก่อนหน้านี้ที่ว่า
“…บารมีนั้น คือ ทำความดี เปรียบเทียบกับธนาคาร …ถ้าเราสะสมเงินให้มากเราก็สามารถที่จะใช้ดอกเบี้ย ใช้เงินที่เป็นดอกเบี้ย
โดยไม่แตะต้องทุนแต่ถ้าเราใช้มากเกิดไป หรือเราไม่ระวัง เรากิน เข้าไปในทุน
ทุนมันก็น้อยลง ๆ จนหมด …ไปเบิกเกินบัญชีเขาก็ต้องเอาเรื่อง
ฟ้องเราให้ล้มละลาย เราอย่าไปเบิกเกินบารมีที่บ้านเมือง
ที่ประเทศได้สร้างสมเอาไว้ตั้งแต่บรรพบุรุษของเราให้เกินไป เราต้องทำบ้าง
หรือเพิ่มพูนให้ประเทศของเราปกติมีอนาคตที่มั่นคง บรรพบุรุษของเราแต่โบราณกาล
ได้สร้างบ้านเมืองมาจนถึงเราแล้ว ในสมัยนี้ที่เรากำลังเสียขวัญ กลัว จะได้ไม่ต้องกลัว
ถ้าเราไม่รักษาไว้…”
การจัดสรรทรัพยากรมาใช้เพื่อการผลิตที่คำนึงถึง “คุณค่า” มากกว่า “มูลค่า” จะก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่าง
“บุคคล” กับ “ระบบ”
เป็นไปอย่างยั่งยืน ไม่ทำลายทั้งทุนสังคมและทุนเศรษฐกิจ
นอกจากนี้จะต้องไม่ติดตำรา สร้างความรู้ รัก สามัคคี และความร่วมมือร่วมแรงใจ
มองกาลไกลและมีระบบสนับสนุนที่เป็นไปได้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปลูกฝังแนวพระราชดำริให้ประชาชนยอมรับไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
โดยให้วงจรการพัฒนาดำเนินไปตามครรลองธรรมชาติ กล่าวคือ
ทรงสร้างความตระหนักแก่ประชาชนให้รับรู้ (Awareness) ในทุกคราเมื่อ
เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมประชาชนในทุกภูมิภาคต่าง ๆ
จะทรงมีพระราชปฏิสันถารให้ประชาชนได้รับทราบถึงสิ่งที่ควรรู้ เช่น
การปลูกหญ้าแฝกจะช่วยป้องกันดินพังทลาย
และใช้ปุ๋ยธรรมชาติจะช่วยประหยัดและบำรุงดิน
การแก้ไขดินเปรี้ยวในภาคใต้สามารถกระทำได้ การ ตัดไม้ทำลายป่าจะทำให้ฝนแล้ง
เป็นต้น ตัวอย่างพระราชดำรัสที่เกี่ยวกับการสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชน ได้แก่
“….ประเทศไทยนี้เป็นที่ที่เหมาะมากในการตั้งถิ่นฐาน
แต่ว่าต้องรักษาไว้ ไม่ทำให้ประเทศไทยเป็นสวนเป็นนากลายเป็นทะเลทราย ก็ป้องกัน
ทำได้….”
ทรงสร้างความสนใจแก่ประชาชน (Interest) หลายท่านคงได้ยินหรือรับฟัง
โครงการอันเนื่อง
มาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีนามเรียกขานแปลกหู ชวนฉงน
น่าสนใจติดตามอยู่เสมอ เช่น โครงการแก้มลิง โครงการแกล้งดิน โครงการเส้นทางเกลือ
โครงการน้ำดีไล่น้ำเสีย หรือโครงการน้ำสามรส ฯลฯ เหล่านี้ เป็นต้น ล้วนเชิญชวนให้
ติดตามอย่างใกล้ชิด แต่พระองค์ก็จะมีพระราชาธิบายแต่ละโครงการอย่างละเอียด
เป็นที่เข้าใจง่ายรวดเร็วแก่ประชาชนทั้งประเทศ
ในประการต่อมา ทรงให้เวลาในการประเมินค่าหรือประเมินผล
(Evaluate) ด้วยการศึกษาหาข้อมูลต่างๆ
ว่าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระองค์นั้นเป็นอย่างไร
สามารถนำไปปฏิบัติได้ในส่วนของตนเองหรือไม่
ซึ่งยังคงยึดแนวทางที่ให้ประชาชนเลือกการพัฒนาด้วยตนเอง ที่ว่า
“….ขอให้ถือว่าการงานที่จะทำนั้นต้องการเวลา
เป็นงานที่มีผู้ดำเนินมาก่อนแล้ว ท่านเป็นผู้ที่จะเข้าไปเสริมกำลัง
จึงต้องมีความอดทนที่จะเข้าไปร่วมมือกับผู้อื่น ต้องปรองดองกับเขาให้ได้
แม้เห็นว่ามีจุดหนึ่งจุดใดต้องแก้ไขปรับปรุงก็ต้องค่อยพยายามแก้ไขไปตามที่ถูกที่ควร….”
ในขั้นทดลอง (Trial) เพื่อทดสอบว่างานในพระราชดำริที่ทรงแนะนำนั้นจะได้ผลหรือไม่ซึ่งในบางกรณีหากมีการทดลองไม่แน่ชัดก็ทรงมักจะมิให้เผยแพร่แก่ประชาชน
หากมีผลการทดลองจนแน่พระราชหฤทัยแล้วจึงจะออกไปสู่สาธารณชนได้ เช่น
ทดลองปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำนั้น
ได้มีการค้นคว้าหาความเหมาะสมและความเป็นไปได้จนทั่วทั้งประเทศว่าดียิ่งจึงนำออกเผยแพร่แก่ประชาชน
เป็นต้น
ขั้นยอมรับ (Adoption) โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น
เมื่อผ่านกระบวนการมาหลายขั้นตอน บ่ม เพาะ และมีการทดลองมาเป็นเวลานาน
ตลอดจนทรงให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริและสถานที่อื่นๆ
เป็นแหล่งสาธิตที่ประชาชนสามารถเข้าไปศึกษาดูได้ถึงตัวอย่างแห่งความสำเร็จ ดังนั้น
แนวพระราชดำริของพระองค์จึงเป็นสิ่งที่ราษฎรสามารถพิสูจน์ได้ว่าจะได้รับผลดีต่อชีวิต
และความเป็นอยู่ของตนได้อย่างไร
แนวพระราชดำริทั้งหลายดังกล่าวข้างต้นนี้
แสดงถึงพระวิริยะอุตสาหะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทุ่มเทพระสติปัญญา
ตรากตรำพระวรกาย
เพื่อค้นคว้าหาแนวทางการพัฒนาให้พสกนิกรทั้งหลายได้มีความร่มเย็นเป็นสุขสถาพรยั่งยืนนาน
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงที่ได้พระราชทานแก่ปวงไทยตลอดเวลามากกว่า ๕๐ ปี
จึงกล่าวได้ว่าพระราชกรณียกิจของพระองค์นั้นสมควรอย่างยิ่งที่ทวยราษฎรจักได้เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท
ตามที่ทรงแนะนำ สั่งสอน
อบรมและวางแนวทางไว้เพื่อให้เกิดการอยู่ดีมีสุขโดยถ้วนเช่นกัน
โดยการพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขึ้นตอนต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมี พอกิน
พอใช้ ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัด
แต่ถูกต้องตาหลักวิชาการ เพื่อได้พื้นฐานที่มั่นคงพร้อมพอ สมควรและปฏิบัติได้แล้ว
จึงค่อยสร้างค่อยเสริม ความเจริญ และฐานะทางเศรษฐกิจขึ้นที่สูงขึ้นไปตามลำดับ
จะก่อให้เกิดความยั่งยืนและจะนำไปสู่ความเข้มแข็งของครอบครัว ชุมชน และสังคม
สุดท้ายเศรษฐกิจดี สังคมไม่มีปัญหา การพัฒนาก็จะยั่งยืน
ประการที่สำคัญของเศรษฐกิจพอเพียง
๑. พอมีพอกิน ปลูกพืชสวนครัวไว้กินเองบ้าง
ปลูกไม้ผลไว้หลังบ้าน ๒ – ๓ ต้น
พอที่จะมีไว้กินเองในครัวเรือน เหลือจึงขายไป
๒. พออยู่พอใช้ ทำให้บ้านน่าอยู่ ปราศจากสารเคมี
กลิ่นเหม็น ใช้แต่ของที่เป็นธรรมชาติ (ใช้จุลินทรีย์ผสมน้ำถูพื้นบ้าน
จะสะอาดกว่าใช้น้ำยาเคมี) รายจ่ายลดลง สุขภาพจะดีขึ้น (ประหยัดค่ารักษาพยาบาล)
๓. พออกพอใจ เราต้องรู้จักพอ รู้จักประมาณตน
ไม่ใคร่อยากใคร่มีเช่นผู้อื่น เพราะเราจะหลงติดกับวัตถุ ปัญญาจะไม่เกิด
“การจะเป็นเสือนั้นมันไม่สำคัญ
สำคัญอยู่ที่เราพออยู่พอกิน และมีเศรษฐกิจการเป็นอยู่แบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกิน
หมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้
ให้มีพอเพียงกับตัวเอง”
"เศรษฐกิจพอเพียง" จะสำเร็จได้ด้วย
"ความพอดีของตน"
ผู้นำที่ดีต้องนั่งอยู่ในหัวใจคน ดั่งเช่น "ในหลวงของเรา"
ท่าน ว.วชริเมธี เขียนเรื่องราวของในหลวงผู้ทรงเป็นที่รักของคนไทยทั้งชาติในแง่มุมของการเป็นผู้นำชาติ และท่านมีเกร็ดเล่าไว้ในหนังสือ "ธรรมะน้ำเอก" ดังนี้
ท่าน ว.วชริเมธี เขียนเรื่องราวของในหลวงผู้ทรงเป็นที่รักของคนไทยทั้งชาติในแง่มุมของการเป็นผู้นำชาติ และท่านมีเกร็ดเล่าไว้ในหนังสือ "ธรรมะน้ำเอก" ดังนี้
การเป็นผู้นำที่ดีนั้นจะต้องเข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจคน
ไม่ใช่นั่งอยู่บนหัวคน อยู่บนหัวคนก็คือ การเป็นผู้นำที่นิยมการใช้อำนาจบาตรใหญ่
มีความต้องการอะไรก็สั่งๆๆ ให้ลูกน้องทำตาม กดข่มลูกน้องด้วยอำนาจ ด้วยอารมณ์
เอาแต่ใจตัวเองเป็นใหญ่ ลูกน้องทำงานไม่ทันใจ
ทั้งนายและลูกน้องก็มีสิทธิ์หัวใจวายหรือกลายเป็นคนเครียดสะสม
เหตุการณ์ในครั้งหนึ่งผ่านไปจนไม่มีใครสนใจจำอีกแล้ว
ในจดหมายเหตุราชกิจรายวันก็คงไม่มีบันทึกไว้เป็นแน่
ครั้งหนึ่งเมื่อในหลวงเสด็จฯ
ต่างจังหวัดเพื่อทรงตรวจเยี่ยมโครงการต่างๆ และพบปะราษฎร
ขณะพลบค่ำแล้วพระองค์กำลังจะเสด็จฯกลับ วันนั้นพระองค์และข้าราชบริพารถูกตัวบึ้งกัด
ตอนนั้นเวลาประมาณสองสามทุ่ม
พระองค์ทรงพระดำเนินผ่านข้าราชบริพารแล้วตรัสถามว่า
"ใครถูกบึ้งกัด" เจ้าหน้าที่กรมชลประทานคนหนึ่งตอบว่า
"ข้าพระพุทธเจ้า" พระองค์ตรัสถามแล้วก็ไม่ได้ตรัสอะไรต่อ
เสด็จขึ้นรถยนต์พระที่นั่งเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล
ที่เดินทางมากับขบวนเสด็จก็เตรียมตัวขึ้นรถกลับพร้อมคณะข้าราชบริพาร
แต่ที่ไหนได้ ประมาณ ๓ นาที
พระองค์เสด็จฯ ลงมา ปรากฏว่า ทรงขึ้นรถไปเพื่อหายาหม่อง
แล้วก็ย้อนมาที่ข้าราชบริพารชุดเดิม พลางตรัสถามว่า "ใครถูกบึ้งกัด"
พอทราบตัวคนที่ถูกบึ้งกัดแล้ว พระองค์ก็ทรงจับมือเลย ทรงควักยาหม่องออกมาทาๆ
ที่ข้าราชบริพารคนนั้น ทาเสร็จแล้วทรงนวดด้วย เจ้าหน้าที่งงเป็นไก่ตาแตก
เพิ่งเคยเห็นในหลวงทายาหม่องให้ข้าราชบริพาร แถมยังทรงนวดให้อย่างดีด้วย
นวดเสร็จแล้วทุกคนก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะว่าไม่เคยเจอเหตุการณ์เช่นนี้ จะขอบคุณก็ไม่รู้จะทำอย่างไร
ก็เลยได้แต่ยืนน้ำตาซึมด้วยความซาบซึ้งใจ
ท่าน ว.วชิรเมธี เคยถามนิสิตว่า
ถ้าเป็นเธอถูกในหลวงทายาหม่องให้ที่มือ เธอจะทำอย่างไรในขณะนั้น
นิสิตคนหนึ่งตอบว่า ถ้าหนูตายให้ตัดมือออก แล้วเอาสตัฟฟ์ไว้ที่ข้างฝา
ห้ามเผาเด็ดขาด เป็นมือข้างเดียวในโลกที่พระมหากษัตริย์ทรงทายาและนวดให้
ข้าราชบริพารยืนน้ำตาซึม
ปลื้มอกปลื้มใจในพระราชจริยวัตรคราวนั้น
ในโลกนี้จะมีผู้นำสักกี่คนที่มีความละเมียดละไมกับผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาได้ขนาดนี้
พระองค์ท่านทำเช่นนี้ได้เพราะว่าพระองค์ไม่เคยทรงมองข้ามหัวของคนเล็กคนน้อย
ทรงให้เกียรติคนทุกคน
ไม่ว่าเขาจะสูงด้วยอำนาจราชศักดิ์หรือต่ำต้อยติดเส้นดินเส้นหญ้าก็ตาม
เมื่อได้ใจคนก็ได้งาน ได้งานก็ได้ประโยชน์สุข
เพราะฉะนั้นคนที่ไปทำงานกับพระองค์ก็ยอมรับนับถือและกล้าเปลี่ยนแปลง
เปลี่ยนแปลงวิธีคิด วิธีทำงาน วิธีการใช้ชีวิตทั้งหมด เพราะมีความรู้สึกดีที่ได้ทำงานกับสุดยอดเจ้านาย
สุดยอดผู้นำในดวงใจ ลูกน้องมีความรู้สึกว่า ดีใจจังเลยที่ได้ทำงานกับเจ้านายแบบนี้
วิเศษจริงๆ
ผู้นำที่ดีควรจะก่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีงามในหัวใจผู้ตาม
หรือก่อให้เกิดภาวะที่ "คนอื่นอยากเดินตาม" จนเขาอุทานออกมาได้ว่า
"ช่างเป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยมจริงๆ"
ในหลวงฯ ในสายตาของชาวต่างชาติ เรื่องที่คนไทยยังไม่เคยรู้
จากคนไทยรักในหลวงเมื่อ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๗:๔๖ น.
จากคนไทยรักในหลวงเมื่อ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๗:๔๖ น.
ไหน จะเขมร พม่า น้ำท่วม พายุ คลิป
การประท้วง.. ที่สำคัญการโพสต์ข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามหน้าWall
และในหลายเว็บไซต์ พาทั้งผมและคนไทยเครียดกันเป็นแถบๆ
ถ้าไม่ให้ตกเทรนคงต้องคุยกันแต่เรื่องพวกนี้
แต่วันนี้มีเรื่องเล่าให้หายเครียดกับบรรยากาศบ้านเมือง
แต่คนทำให้หายเครียดกลับไม่ใช่คนไทย กลายเป็นคนต่างชาติไปซะนี่ แปลก ซึ้ง
แต่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ถ้ามีฝีมือในการถ่ายทอดพอคงได้เห็นน้ำตาซึมออกมา
เพราะความปีติอีกครั้ง ตามมาครับ คือเมื่อวันก่อนมีโอกาสต้อนรับนักธุรกิจชาวอังกฤษหนึ่งท่าน
ที่มาตามงานที่เขาสั่งผลิตเอาไว้ ตามภาษาคนทำธุรกิจเลยต้องรับขับสู้ให้ดีที่สุด เพื่อโชว์ความเป็นคนไทยที่มีน้ำใจ
เรื่องมันเกิดขึ้นบนโต๊ะอาหารมื้อค่ำครับ เราก็ทานอาหารกันไปตามปกติมาอีตอนท้ายๆของการสนทนาครับ
จำได้ว่า เราคุยกันเรื่องการลงทุนนี่แหละครับ อยู่ดีๆ ฝรั่งตาน้ำข้าวก็พูดขึ้นมาว่า
"คุณรู้ไหมทำไมคนต่างชาติหลายๆประเทศ
ทำไมตัดสินใจมาลงทุนที่เมืองไทย "เราก็ตอบไปตามสไตล์คนอยากรู้ว่า ไม่รู้
เข้าทางฝรั่งเลยครับ เขาพูดขึ้นมาว่า
"ส่วนมากแล้วจะประเมินกันว่าแรงงานประเภทงานฝีมือคนไทยมีศักยภาพสูงสุดในแถบเอเชีย
สูงกว่าญี่ปุ่นเสียอีก ตอนนี้จะพอมีใช้ได้ก็เวียดนาม แต่ไม่กระตือรือร้นเท่าที่ควรจึงยังห่าง
"แต่นั้นไม่ใช่เหตุผลหลักนะครับ เพราะสิ่งที่นักธุรกิจคนนี้พูดต่อมาก็คือ "แต่ปัจจัยหลักที่พวกเขาตัดสินใจมาลงทุนที่เมืองไทยเป็นเพราะ
"ในหลวงฯ" เริ่มอึ้งไปชั่วขณะเพราะงง จึงถามกลับไปว่าทำไมจึงเป็นเพราะในหลวงฯ
มาฟังคำตอบชัดๆเลยครับ "ก็เพราะประเทศคุณมี King of king (แปลไม่ถูกเพราะหัวใจมันพองโตขึ้นมาในทันใด)
พวกเราเป็นที่รู้กันมาตลอดว่าประเทศไทย
ไม่ว่าจะมีเรื่องเลวร้ายแค่ไหน มันจะผ่านไปได้ทุกครั้ง แม้กระทั่งความรุนแรงหรือความแตกแยกทางความคิดใดๆ
หากเกิดขึ้น เพียงในหลวงฯของคุณบอกให้จบ ทุกอย่างจะจบ ด้วยความสงบสันติ" แล้วผมก็ถามกลับไปว่าตอนนี้เรายังมีปัญหาอยู่เลย
เขาตอบกลับทันทีว่า "เรื่องการจลาจลเผาเมืองที่ผ่านมา เขาตามข่าวมาตลอดด้วยความเป็นห่วง
แต่ที่แปลกใจก็คือครั้งนี้ในหลวงไม่ออกมา แต่นั้นทำให้เขารู้ว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นครั้งนี้
ไม่ใช่เรื่องความ "แตกแยก" แต่เป็นเรื่อง "การเมือง"
ในหลวงฯจึงไม่เข้ามายุ่งเกี่ยว" จบตอนนี้ผมอึ้ง ทึ่ง
สมองสั่งการให้เห็นแสงสว่างขึ้นมาทันทีว่า จริงด้วย เราหลงทางหรือเปล่า ที่คิดว่าเราแตกความสามัคคี
จริงๆแล้วเป็นเรื่องการเมือง ของคนเลวๆกลุ่มหนึ่งเท่านั้น คิดได้เท่านั้นทุกอย่างก็หยุดลง
เพราะคำว่า "ในหลวง" ที่มีคุณูปการมากมายที่มีต่อคนไทย จนคนไทยอย่างเราเองคาดไม่ถึง
นึกไม่ถึงว่าคนต่างชาติมาลงทุนบ้านเราเพราะพระบารมีของพระองค์ ผมกับคุณพ่อเริ่มออกอาการซึมเพราะมันรู้สึกตื้นตันอย่างบอกไม่ถูกเวลานั้น
ทุกอย่างแห่งความซาบซึ้งน่าจะจบลงตรงนั้น แต่แล้วน้ำตามันซึมออกมาเองอีกครั้ง เมื่อตอนคนมาเก็บเงินค่าอาหาร
ในตอนที่เอาเงินส่งให้พนักงาน ฝรั่งคนเดิมพูดขึ้นมาอีกว่า
"คนไทยนี่โชคดีจริงๆนะ จะอยู่ที่ไหน
จะทำอะไร มีในหลวงฯคอยติดตามเฝ้าดูอยู่อย่างใกล้ชิดตลอดเวลา" ผมกับพ่อหันไปมอง
คราวนี้พ่อผมถามเองเลยว่า คุณรู้ได้อย่างไร เขาตอบกลับทันทีเลยว่า "ก็ผมเห็นธนบัตรไทยมีรูปในหลวงฯของพวกคุณอยู่ทุกๆใบ
แม้กระทั่งในเหรียญที่มีค่าน้อยที่สุดถึงมีค่ามากที่สุด ในธนบัตร
เห็นเป็นอย่างนี้มาหลายสิบปีแล้ว ดังนั้นเวลาคนไทยไปไหน
ในหลวงฯจะอยู่กับคนไทยตลอดเวลา ไม่เคยห่างกัน ผมยังสงสัยเลยว่า
ทำไมรัฐบาลคุณไม่พิมพ์คำว่า.."เรารักในหลวง" ลงไปในธนบัตร.."..ทั้งผมทั้งพ่อน้ำตากลั้นไม่ไหวจริงๆครับ
มันซึมออกมาแบบไม่อายเลย น้ำลายมันก็กลืนไม่เข้าเวลานั้น "เท่ห์"
มากครับที่เกิดเป็นคนไทย หัวใจมันพองโต จนรู้สึกว่าตายกี่ชาติต่อกี่ชาติ
ขอให้ได้เกิดเป็นคนไทยทีเถิด.... ส่งแขกเสร็จกลับบ้านกับพ่อสองคน..ตลอดทางไม่พูดกันซักคำ
ต่างคนต่างเงียบ ผมก็ได้แต่นั่งคิดถึงคำพูดไอ้ฝรั่งคนนี้มาตลอดทาง
มันเป็นความสุขที่ได้รับแบบคาดไม่ถึงจริงๆครับ
พอถึงบ้านจอดรถให้พ่อลงที่หน้าบ้านเห็นแม่มายืนรออยู่ พอพ่อลงรถ คำแรกที่พ่อพุดกับแม่คือ
ถามลูกมันดูซิว่า แกรี่เค้าพูดถึงในหลวงว่ายังไง
จบครับ
เป็นอันว่าตลอดทางที่กลับบ้านพ่อผมคิดถึงแต่เรื่องในหลวงฯแน่นอน เรื่องทั้งหมดที่เล่าคงอธิบายความรู้สึกที่อยากจะถ่ายทอดทั้งหมดไม่ได้
แต่อยากแบ่งปันครับ แบ่งปันให้พวกเราเก็บเรื่องดีๆนี่ไว้ในความทรงจำ
เพื่อแบ่งปันกันต่อจากรุ่นสู่รุ่น ไม่น่าเชื่อนะครับว่า
คนอื่นมองเห็นเราชัดเจนกว่าตัวเราที่เป็นคนไทยซะอีก คำว่าเป็นเรื่อง "การเมือง"
ไม่ใช่เรื่องความ "แตกแยก" อาจเป็นคำตอบให้คนไทยกลับมาคิดทบทวนกันอีกครั้งว่า
เราแตกแยกกันจริงหรือ เพราะเรามีพระมหากษัตริย์ที่ประเสริฐที่สุด
จนคนทั้งโลกยังอิจฉา แต่เราบางคนกลับมองไม่เห็น เพิ่งรู้ และสัมผัสกับคำว่า
หัวใจพองโต มันคับฟ้าคับแผ่นดินจริงๆนะครับ ที่สำคัญคือการที่รู้สึกแบบนี้ได้เป็นเพราะ
ผมเป็นคนไทย ที่มีพระมหากษัตริย์ที่ประเสริฐที่สุดเป็น "พ่อของแผ่นดิน" พระองค์ฯต้องอยู่เป็นมิ่งขวัญให้คนไทยทั้งแผ่นดินตลอดไป
จริงไหมครับ ????
Proud to be Thai / ภูมิใจที่ได้เป็นคนไทย
ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น